รีเซต

เปิดอีก 1 เหตุผล ทำไม? ไทยต้องมี “ดาวเทียม THEOS-2” ถ่ายภาพละเอียดสูง

เปิดอีก 1 เหตุผล ทำไม? ไทยต้องมี “ดาวเทียม THEOS-2” ถ่ายภาพละเอียดสูง
TNN ช่อง16
10 ตุลาคม 2566 ( 14:57 )
95

เมื่อวานนี้ ( 9 ต.ค. 66 ) ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการนำส่งดาวเทียม THEOS-2  ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ  ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ  Earth observation satellite หนึ่งใน 2 ดวง ที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาที่ดำเนินการ ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA 



จากข้อมูลของ GISTDA ระบุว่า ความสำคัญในการส่ง THEOS-2 ขึ้นทำหน้าที่บนอวกาศ ช่วยทำให้เราได้ข้อมูลภูมิศาสตร์ที่ละเอียดมากขึ้น และ ช่วยในการ ฝ้าระวังและหาแนวทางรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้ดีขึ้น  ล่าสุดนักวิชาการได้ออกมาเผยเหตุผลสำคัญอีกหนึ่งข้อที่เราจะได้จากการส่ง “ดาวเทียม THEOS-2” ขึ้นสำรวจภูมิศาสตร์ในครั้งนี้ 


ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่าน Facebook : Thon Thamrongnawasawat โดยกล่าวว่า 

"ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรเรียบร้อย จึงอยากอธิบายให้เข้าใจว่า ดาวเทียมถ่ายภาพละเอียดขึ้นแล้วดีอย่างไร ?"  


หากติดตามข่าว  “ดาวเทียม THEOS-2”  ดาวเทียมดวงใหม่ของไทย จะเห็นข่าวต่างๆพูดถึงภาพถ่ายรายละเอียดสูงระดับ 50 เซนติเมตร การอธิบายด้วยภาพคงง่ายกว่าตัวอักษร จึงนำภาพเปรียบเทียบมาให้ แต่รูปที่เปรียบเทียบนี้ ไม่ใช่ภาพจาก THEOS-2 นะครับ คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะได้ข้อมูลเอามาใช้สองภาพดังกล่าวคือเกาะสาก ภาพบนคือรายละเอียดต่ำ หากมองเผินๆ อาจไม่เห็นอะไร แต่ถ้าเพ่งสักนิดจะเห็นอ่าวตอนใต้มีอะไรแปลกๆ


ลองดูให้ดีตรงจุดที่มีเรือจอด 3-4 ลำ ทำไมแนวปะการังเป็นอย่างนั้น ? มันดูไม่เป็นธรรมชาติ


ต่อมาเรามาดูที่ภาพความละเอียดสูงงมาเทียบ เราจะเห็นเลยว่าปะการังถูกจัดเรียงไว้เพื่อกิจกรรมซีวอล์คเกอร์ คราวนี้ลองคิดตาม หากเรามีแต่ภาพรายละเอียดต่ำ เราก็ได้แต่สงสัย 



นั่นคือความต่างของสองภาพ และ คำตอบที่ว่าทำไม THEOS-2 จึงจะมีประโยชน์หนักหนาในการสำรวจตรวจตราทั้งทะเลทั้งป่า และอื่นๆ อีกมาก ภาพรายละเอียดสูงยังมีประโยชน์ในการจัดการ ปรับพื้นที่ ฟื้นฟู บริหารจัดการ ใช้ร่วมกับการสำรวจภาคสนาม สำรวจโดยใช้โดรน ดำน้ำดู ฯลฯ


ปัจจุบัน เรามีกรรมการของจังหวัดชลบุรีร่วมกับกรมทะเล เพื่อบริหารจัดการซีวอล์คเกอร์ พื้นที่นี้เท่าที่เช็คล่าสุด ไม่มีใครมาทำแล้ว  ในอนาคตอาจหาทางฟื้นฟูให้ดูดีกว่าเดิม ซึ่งหากใช้ THEOS-2 เราก็จะสามารถทำงานได้อย่างมี มีประสิทธิภาพมากขึ้น 


ภาพ 2 ภาพนั้นเป็นตัวอย่างง่ายๆที่จะทำให้เห็นภาพว่าเราจะสามารถ เจอปัญหาทางทรัพยากรและแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น อย่างปัญหาปะการัง ซึ่งเรามีแนวปะการังหลายพันแห่ง อยู่ตามเกาะใหญ่น้อยเกือบพัน จะให้ไปสำรวจดูตลอด เอาแค่ทำทุกปียังทำไม่ได้ 


ปัจจุบันรอบการสำรวจปะการังของเราใช้เวลา 4-6 ปี (ขึ้นกับโดนตัดงบแค่ไหน) แต่เมื่อเรามี THEOS-2 เราจะได้ข้อมูลละเอียดพอในทุกเดือน (รอบโคจร 26 วัน) ยังถ่ายภาพมุมเอียงในเวลาถี่กว่านั้นได้ด้วย การตรวจตราเหตุผิดปกติจะทำได้ง่าย ประหยัด ทันท่วงทีขึ้นมาก นั่นเป็นเฉพาะปะการัง ลองคิดถึงป่าเลน แหล่งหญ้าทะเล หาดทราย รวมไปถึง  ป่าเขา แม่น้ำลำคลอง การเกษตร ปศุสัตว์ การท่องเที่ยว ภัยพิบัติ เมือง ชุมชน ที่จะได้รับประโยชน์จาก “ดาวเทียม THEOS-2” 


ไทยเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีหลายอย่างมารวมกัน มีทรัพยากร มีมนุษย์ มีการทำมาหากิน มีผลกระทบ  ประเทศเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูง และเราโหยหามานานแสนนาน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ “ดาวเทียม THEOS-2”   ขึ้นไปแล้วและจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการจัดการทรัพยากรของประเทศไทย




ข้อมูลจาก :  ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล  

ภาพจาก :  GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง