รีเซต

เจาะลึกชุดเกราะไฟฟ้าที่ "เทนนิส พาณิภัค" ใช้แข่ง “เทควันโด” ในเอเชียนเกมส์ 2023 ที่หางโจว

เจาะลึกชุดเกราะไฟฟ้าที่ "เทนนิส พาณิภัค" ใช้แข่ง “เทควันโด” ในเอเชียนเกมส์ 2023 ที่หางโจว
TNN ช่อง16
26 กันยายน 2566 ( 16:18 )
135
เจาะลึกชุดเกราะไฟฟ้าที่ "เทนนิส พาณิภัค" ใช้แข่ง “เทควันโด” ในเอเชียนเกมส์ 2023 ที่หางโจว



"เทนนิส พาณิภัค" เอาชนะเจ้าภาพจีน การแข่งขันเทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง คว้าชัยเหรียญทองแรกให้เหล่าทัพนักกีฬาไทยมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสดราม่าถึงการตัดสินคะแนน TNN Tech จึงเจาะลึกถึงเทคโนโลยีการให้คะแนนของกีฬาเทควันโดที่ใช้ในการแข่งขันจริง


ระบบให้คะแนนอิเล็กทรอนิกส์ด้วยชุดเกราะไฟฟ้าเทควันโด 

การให้คะแนนนั้นจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านชุดเกราะไฟฟ้าที่นักกีฬาเทควันโดสวมใส่ โดยจุดที่จะให้คะแนนในการเตะหรือชกแต่ละครั้งมีอยู่ด้วยกัน 2 จุด คือบริเวณศีรษะและบริเวณด้านหน้าลำตัว 


โดย TNN Tech ได้รับข้อมูลการให้คะแนนในการแข่งขันเทควันโดจากสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ผ่านระบบเกราะไฟฟ้า ดังนี้


1 คะแนน  เมื่อชกบริเวณที่ถูกต้องบริเวณเกราะป้องกันลำตัว 

2 คะแนน  สำหรับการเตะที่ถูกต้องบริเวณเกราะป้องกันลำตัว

4 คะแนน  ในกรณีหมุนตัวเตะที่ถูกต้องบริเวณเกราะป้องกันลำตัว

3 คะแนน  เมื่อเตะที่ถูกต้องบริเวณศีรษะ

5 คะแนน  เมื่อหมุนตัวเตะที่ถูกต้องบริเวณศีรษะ

1 คะแนน  เพิ่มทุกครั้งที่คู่ต่อสู้โดนตัดคะแนน “กัมเจิม”


การให้คะแนนจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่นักกีฬาเตะหรือชกใส่เกราะ โดยมีเซนเซอร์ที่คอยคำนวณทิศทางและแรงที่เกิดขึ้นก่อนส่งเป็นคะแนนไปยังระบบคอมพิวเตอร์ หรือในบางจุด เช่นการชก หรือการหมุนตัวเตะที่ซับซ้อน กรรมการจะใช้ระบบการให้คะแนนด้วยสายตาและกดนับคะแนนด้วยเครื่องมือเข้าสู่ระบบนับคะแนนได้ด้วยเช่นกัน


เซนเซอร์ที่มีอยู่ในเกราะไฟฟ้ากีฬาเทควันโด

จากภาพการแข่งขันระหว่าง "เทนนิส พาณิภัค" กับนักกีฬาเจ้าภาพจีน TNN Tech พบว่าชุดเกราะไฟฟ้าที่ใช้คือยี่ห้อ Dae Do (แดโด้) โดยข้อมูลจาก MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory หรือห้องวิจัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และระบบปัญญาประดิษฐ์ของเอ็มไอที (MIT) ระบุว่า เกราะทั้งส่วนลำตัวและส่วนศีรษะ หรือเรียกว่าเฮดการ์ด (Head Guard) จะติดตั้งเซนเซอร์ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ เซนเซอร์แม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetometer) เซนเซอร์วัดแรงกระแทก (Piezoelectric force sensor) และเซนเซอร์ส่งสัญญาณวิทยุ (Radio Frequency Transmitter) 


โดยเมื่อนักกีฬาเทควันโดที่สวมถุงเท้า (e-sock) ซึ่งติดตั้งแม่เหล็กตามส่วนต่าง ๆ กว่า 11 จุด เข้าปะทะกับเกราะ เซนเซอร์แม่เหล็กจะทำการวัดค่าเพื่อดูว่าระยะการเตะตรงตามที่กำหนดหรือไม่ พร้อมกระตุ้นให้เซนเซอร์วัดแรงกระแทกเก็บข้อมูลแรงเตะที่ทำกับตัวเกราะ แล้วแปลงเป็นข้อมูลสัญญาณไฟฟ้า พร้อมส่งข้อมูลไปยังตัวระบบให้คะแนนแบบไร้สายผ่านสัญญาณวิทยุต่อไป


ทั้งนี้ ระบบการให้คะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาพันธ์เทควันโดโลก (World Taekwondo: WT) ซึ่งได้ผลักดันให้บรรจุกีฬาเทควันโดไว้ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ในปี 1974 และกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ปี 2000 ที่ประเทศออสเตรเลีย


ที่มาข้อมูล สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยMIT CSAILDae Do

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง