รีเซต

แม่พี่สาวน้องสาว เป็นมะเร็งรังไข่-เต้านม อาจมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น

แม่พี่สาวน้องสาว เป็นมะเร็งรังไข่-เต้านม อาจมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2568 ( 11:56 )
13

ตัวแทนของ โจ ไบเดน เปิดเผยว่า อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัย 82 ปี ถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และขณะนี้ลุกลามไปถึงกระดูกแล้ว โดยไบเดนได้ไปพบแพทย์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทั้งนี้มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดได้กับผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้ชายทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับที่ 5 ในผู้ชายจากรายงานล่าสุด "Cancer in Thailand Vol.XI" ซึ่งจัดทำโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ครอบคลุมข้อมูลระหว่างปี 2019–2021 พบว่า อัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศไทยอยู่ที่ 4.9 ต่อประชากรชาย 100,000 คน มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 7 ในผู้ชายไทย อัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย โดยพบอัตราสูงสุดในกรุงเทพมหานครที่ 6.9 ต่อประชากรชาย 100,000 คน และต่ำสุดในจังหวัดขอนแก่นที่ 2.1 ต่อประชากรชาย 100,000 คน

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต ซึ่งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มีดังนี้

  • อายุ : โดยเฉพาะชายวัย 50 ปีขึ้นไป 
  • พันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของยีน : โดยหากมีพ่อ พี่ชายหรือน้องชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะเสี่ยงเพิ่มขึ้น และหากมีแม่ พี่สาวหรือน้องสาวเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นกัน
  • กลายพันธุ์ของยีน : โดยเฉพาะยีน BRCA1 และ BRCA2 
  • เชื้อชาติ : ชายผิวดำจะมีความเสี่ยงสูงกว่า โดยพบอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากสูงในชาวแอฟริกัน
  • ฮอร์โมน : การมีฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนสูงอย่างต่อเนื่อง
  • การอักเสบ : จากการมีภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง น้ำตาลหรือไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในต่อมลูกหมาก
  • การได้รับสารเคมี : เช่น ยาฆ่าแมลง หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม

แม้ปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีปัจจัยเสี่ยงจะต้องเป็นโรคเสมอไป

อาการมะเร็งต่อมลูกหมากในแต่ละระยะ

มะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 หรือระยะแรก : ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กและอยู่ภายในต่อมลูกหมาก มักไม่มีอาการแสดง ซึ่งการสอดนิ้วเข้าไปตรวจคลำทางทวารหนัก (DRE) หรือการเอกซเรย์มักยังไม่พบความผิดปกติ แต่อาจพบได้จากการตรวจค่าโปรตีนที่ต่อมลูกหมากสร้างขึ้น (PSA) หรือมีการตรวจชิ้นเนื้อด้วยโรคอื่นๆ โดยบังเอิญ

ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมากแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจพบได้จากการตรวจทางทวารหนัก ขึ้นอยู่กับขนาดและการแพร่กระจาย โดยเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะลำบากหรือไหลช้า ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน และสมรรถภาพทางเพศลดลง

ระยะที่ 3 : ก้อนมะเร็งเริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง เช่น ถุงน้ำเชื้อ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะที่อยู่ไกล ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะไว้ได้นาน ปัสสาวะลำบากและไม่สุด รู้สึกปวดขณะปัสสาวะหรือหลั่งอสุจิ ปวดหรือตึงในอุ้งเชิงกราน มีเลือดปนในปัสสาวะหรืออสุจิ และสมรรถภาพทางเพศลดลงอย่างชัดเจน

ระยะที่ 4 : ก้อนมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด หรือตับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูกบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง หรือขา อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังไขสันหลังจะรู้สึกปวดหรือเดินลำบาก

ทั้งนี้มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ การตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อคัดกรองความเสี่ยง โดยเฉพาะการตรวจหาค่าระดับสารโปรตีน PSA ที่ต่อมลูกหมากสร้างขึ้น เป็นการตรวจที่ง่ายและทำได้บ่อย จะช่วยให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง