อีลอน มัสก์อัปเดตยาน Starship พร้อมเปิดตัวเครื่องยนต์จรวด Raptor 2
อีลอน มัสก์ผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX จัดงานอัปเดตความคืบหน้าการพัฒนายาน Starship และจรวด Super Heavy บริเวณศูนย์พัฒนาและปล่อยจรวด Starbase บริเวณชายหาดโบคา ชิกา เมืองบราวน์สวิลล์ ตอนใต้สุดของรัฐเท็กซัสติดชายแดนประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก งานอัปเดตความคืบหน้าเทคโนโลยีของบริษัทในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นหลังจากเว้นว่างไปประมาณ 2 ปี
จรวด Falcon 9 ที่พัฒนาโดยบริษัท SpaceX ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมและยานอวกาศแล้วกว่า 144 ภารกิจ จรวดสามารถเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกได้สำเร็จ 106 เที่ยวบิน นับเป็นจรวดที่มีความทันสมัยและประสบความสำเร็จมากที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก
ยาน Starship เป็นก้าวสำคัญของการขนส่งอวกาศ อีลอน มัสก์อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในแต่ละปีทั่วโลกมีการส่งดาวเทียม ยานอวกาศและทรัพยากรด้านอวกาศต่าง ๆ น้ำหนักรวมกันประมาณ 15,517 ตัน ในขณะที่ยาน Starship 1 ลำ สามารถขนส่งน้ำหนักรวมกันกว่า 15,500 ตัน ต่อปี หากยานสามารถบินขึ้นและลงจอดจำนวน 3 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ หากยาน Starship 1 ลำ สามารถบินขึ้นและลงจอดได้ 3 ครั้ง ต่อวัน จะสามารถขนส่งน้ำหนักรวมกันกว่า 109,500 ตัน ในช่วงเวลา 1 ปี และหากบริษัทสามารถสร้างยาน Starship ได้จำนวน 10 ลำ จะสามารถขนส่งน้ำหนักรวมกันกว่า 1,095,000 ตัน ขึ้นสู่อวกาศ
ยาน Starship ยานอวกาศที่มีขนาดและความทันสมัยมากที่สุดในโลกถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โครงสร้างยานมีขนาดความสูงประมาณ 50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 9 เมตร น้ำหนักบรรทุกนักบินอวกาศ ดาวเทียมและทรัพยากรอื่น ๆ รวม 100-150 ตัน
ในอนาคตยาน Starship จะได้รับการปรับแต่งเป็นเวอร์ชันต่าง ๆ เพื่อใช้งานในภารกิจที่แตกต่างกัน เช่น Starship Crew สามารถเติมเชื้อเพลิงได้ขณะยานอยู่บนวงโคจรของโลกโดยใช้ยาน Starship Tanker เวอร์ชันบรรทุกเชื้อเพลิงสำหรับเติมเชื้อเพลิงขณะอยู่บนวงโคจรของโลก (Orbital Refilling) ส่วนยาน Starship Cargo เวอร์ชันสำหรับใช้บรรทุกดาวเทียม ยานอวกาศและทรัพยากรอื่น ๆ
เครื่องยนต์จรวด Raptor 2 หรือ Raptor V2 มีพลังขับเคลื่อนประมาณ 230 ตัน เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดถูกพัฒนาขึ้นมาจากเครื่องยนต์จรวด Raptor 1 ที่มีพลังขับเคลื่อนประมาณ 185 ตัน นอกจากนี้เครื่องยนต์จรวด Raptor 2 ยังได้รับการปรับแต่งใหม่ให้สามารถติดตั้งเข้ากับยานอวกาศโดยใช้พื้นที่น้อยลงด้วยการลดจำนวนท่อขนส่งเชื้อเพลิงออกไปบางส่วน สำหรับเชื้อเพลิงที่จรวดรุ่นนี้ใช้เป็นออกซิเจนเหลวและมีเทนที่มีอุณหภูมิติดลบ
จรวด Super Heavy หนึ่งในจรวดทรงพลังมากที่สุดรุ่นหนึ่งเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมามีขนาดความสูงประมาณ 69 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เมตร อีลอน มัสก์เปิดเผยว่าบริษัทจะมีการเพิ่มเครื่องยนต์จรวด 2 เครื่องยนต์ เพื่อช่วยในการปรับเปลี่ยนทิศทางของจรวดทำให้จรวด Super Heavy มีเครื่องยนต์จรวดเพิ่มขึ้นจาก 29 เครื่องยนต์เป็น 31 เครื่องยนต์ สำหรับจรวด Super Heavy ถูกออกแบบให้สามารถเดินทางกลับโลกหลังจากส่งยาน Starship ขึ้นสู่อวกาศ โดยการใช้แขนหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ดักจับจรวดกลางอากาศเพื่อวางจรวดลงบนแท่นปล่อยจรวดและเติมเชื้อเพลิงรอการใช้งานในภารกิจถัดไป
สำหรับการทดสอบส่งจรวด Super Heavy และยาน Starship ขึ้นสู่อวกาศบริษัทเตรียมแผนการทดสอบเอาไว้ประมาณช่วงเดือนมีนาคมนี้ โดยเป็นภารกิจส่งยาน Starship โคจรรอบโลกแบบไร้นักบินอวกาศก่อนยานจะทำการลงจอดแบบทิ้งตัวลงในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะคาไว อย่างไรก็ตามการทดสอบในครั้งนี้เป็นเพียงการทดสอบขั้นต้น ในภารกิจปกติของยาน Starship การลงจอดบนโลกใช้แขนหุ่นยนต์ดักจับกลางอากาศคล้ายการลงจอดของจรวด Super Heavy
ข้อมูลจาก Youtube/SpaceX
ภาพจาก spacex.com