AI คัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการสแกนผ่านกล้องมือถือ
นักวิจัยในประเทศออสเตรเลีย พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ช่วยคัดกรองสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยภาพที่ได้จากการสแกนใบหน้าผู้ป่วยผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจจับสัญญาณของโรคได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีใหม่นี้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการสแกนใบหน้าของผู้ป่วย เพื่อดูความสมมาตร และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าบางส่วน เนื่องจากคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักมีใบหน้าด้านหนึ่ง ที่อาจจะดูแตกต่างไปจากอีกด้านหนึ่ง เช่น มุมปากตก ปากเบี้ยว หรือหลับตาไม่สนิทข้างเดียว
ทั้งนี้ทีมผู้พัฒนาจากมหาวิทยาลัย อาร์เอ็มไอที (RMIT) ในออสเตรเลีย เล่าถึงการทำงานของอุปกรณ์ตัวนีว่า ระบบจะถ่ายวิดีโอของผู้ใช้งานที่กำลังยิ้ม และแบบจำลองจะพิจารณาว่ารอยยิ้มนี้ บ่งชี้ถึงสัญญาณของบุคคลที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เพื่อให้สามารถส่งไปให้แพทย์รักษาได้ทันที
โดยการศึกษานี้ ใช้การบันทึกวิดีโอการตรวจการแสดงออกทางสีหน้าของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 14 ราย และกลุ่มควบคุมเพื่อสุขภาพ 11 ราย ซึ่งพบว่าอุปกรณ์มีความแม่นยำในการคัดกรองมากถึงร้อยละ 82
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาเปาโลในประเทศบราซิล ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Computer Methods and Programs in Biomedicine เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้กลายเป็นแอปพลิเคชันสำหรับให้บริการบนสมาร์ตโฟนต่อไป อย่างไรก็ตามพวกเขาเน้นย้ำว่า อุปกรณ์ตัวนี้ ไม่ได้มาแทนที่การตรวจวินิจฉัยของแพทย์ แต่เป็นตัวช่วยคัดกรองอาการเบื้องต้น เพื่อให้คนที่เจอคนป่วยเป็นคนแรก สามารถตัดสินใจกับสถานการณ์ตรงหน้า และดูแลคนป่วยได้รวดเร็วมากขึ้น
สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) คือภาวะที่การจ่ายเลือดไปยังสมองบางส่วนถูกรบกวนหรือลดลง ทำให้สมองขาดเลือด หรือบางครั้งมีเลือดออกในสมอง ที่อาจส่งผลให้เซลล์สมองตาย ซึ่งหากการรักษาล่าช้าออกไปแม้แต่นาทีเดียว สมองก็อาจได้รับความเสียหายอย่างถาวรได้ ดังนั้นการรักษาอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยลดความรุนแรง ลดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลจาก voanews, rmit.edu.au, phyathai, medparkhospital