ญี่ปุ่นเอาอีกแล้ว ! ทุบสถิติโลกส่งสัญญาณเน็ตด้วยสายไฟเบอร์ธรรมดา
ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตตามบ้านในไทยและต่างประเทศต่างใช้การรับส่งสัญญาณจากสายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เพื่อรับส่งข้อมูลในระดับกิกะบิต (Gigabit) ต่อวินาที แต่ขีดจำกัดของสายใยแก้วนำแสงจริง ๆ นั้นอยู่ที่ระดับ 1 ล้านเท่า ของการใช้งานตามบ้านทั่วไป แต่ว่าต้องใช้การผลิตที่ซับซ้อน พร้อมระบบการส่งข้อมูลแบบพิเศษที่ต่างจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วไป อย่างไรก็ตาม การวิจัยจากญี่ปุ่นได้ทำลายสถิติใหม่ล่าสุดด้วยการกำหนดค่าที่เรียบง่ายมากขึ้นและใช้งานได้จริง
งานวิจัยล่าสุดนี้เป็นของทีมวิจัยจาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (National Institute of Information and Communications Technology: NICT) ในการทำสถิติส่งข้อมูลผ่านสายใยแก้วนำแสงถึง 1.53 เพตะบิตต่อวินาที (Petabits per Second) ที่ทำลายสถิติการส่งสัญญาณเดิมที่ทำไว้ 1.02 เพตะบิตต่อวินาที (Petabits per Second) ซึ่งมากกว่าตัวเลขเดิมถึง 50 เปอร์เซ็นต์
เบื้องหลังวิธีการทำลายสถิติอยู่ที่วิธีการส่งสัญญาณ โดยทีมนักวิจัยใช้วิธีการที่เรียกว่า มัลติเพล็กซิง (Multiplexing) หรือการใช้สัญญาณแสงที่ต่างกัน 55 ย่านความถี่ (โหมด) ส่งสัญญาณเพื่อให้เกิดการส่งข้อมูลแยกอิสระที่เหมาะสำหรับแต่ละคลื่นความถี่ จากนั้นนำข้อมูลมารวมกันที่ปลายทาง โดยข้อมูลที่ส่งผ่านสายใยแก้วนำแสงเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของทั้งโลกผ่านเส้นใยแก้วนำแสงเพียงเส้นเดียว โดยอินเทอร์เน็ตทั้งโลกที่ผ่านสายใยนำแก้วเส้นนี้จะมีความเร็วฐานน้อยกว่า 1 เพตะไบต์ต่อวินาที (Petabits per Second) อยู่เล็กน้อย
ข้อมูลดังกล่าวถูกส่งผ่านสายใยแก้วนำแสงเส้นเดี่ยวที่ลากผ่านระหว่างจุดส่งกับจุดรับสัญญาณเป็นระยะทางกว่า 25.9 กิโลเมตร และใน 55 โหมด ก็สร้างคลื่นความถี่แสงกว่า 184 ความถี่ ที่ทำให้การทดลองเสถียรและทำลายสถิติโลกในที่สุด ซึ่งเปิดทางการนำไปประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ที่ง่ายและมีต้นทุนที่ถูกลงมากขึ้น
ที่มาข้อมูล Tom's Hardware
ที่มารูปภาพ Unsplash