รีเซต

ไทยจะฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้หรือไม่?

ไทยจะฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้หรือไม่?
TNN World
15 มิถุนายน 2564 ( 09:28 )
86
ไทยจะฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้หรือไม่?

Editor’s Pick: ประเทศไทยจะฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้หรือไม่?

 

ในวันที่การท่องเที่ยวไร้แววฟื้นตัว ภาคธุรกิจกำลังล้มหายตายจาก บริษัทต่างชาติเมินไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน กับวัคซีนที่ยังไม่ถึงแขนคนส่วนใหญ่ในประเทศ

 

แล้วความหวังฟื้นเศรษฐกิจไทย อยู่ตรงไหน

 

 

 


สถานบันเทิง ไร้แววกลับมาเปิด

 

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ดำเนินมาเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น การฉีดวัคซีนก็ ‘ลูกผีลูกคน’ กับการเลื่อนการฉีดวัคซีน และการสื่อสารที่สับสนของภาครัฐ

 

 

South China Morning Post ได้คุยกับเจ้าของร้าน ‘ไทยโช’ สถานบันเทิงที่รอดพ้นโควิดไม่ได้เมื่อปีที่แล้ว แต่ระลอกนี้ยิ่งหนัก และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้เหล่าบาร์ สถานบันเทิง กลับมาเปิดบริการให้ลูกค้าได้อีกเมื่อไหร่ แม้วันนี้ จะอนุญาตให้บางกิจการกลับมาเปิดได้แล้วก็ตาม

 

 

“คาดการณ์ไม่ได้เลยว่าเมื่อไหร่ธุรกิจของเราจะกลับมาเปิดได้อีก...รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาธุรกิจของเราเลย พวกเขาคิดว่าเราไม่สำคัญ ไม่คิดว่าพ่อค้าแม่ค้า และพนักงานจะได้รับผลกระทบ” เอม เจ้าของร้านไทยโช บอกกับ SCMP

 

 

 


คาด GDP ไทยโตแค่ 2%

 

เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงขาลงอีกระลอก หลัง GDP หดตัวลง 6.1% เมื่อปีที่แล้ว, มาวันนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เตือนว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบ ‘กระท่อนกระแท่น’ โดยคาดว่า GDP จะโตเพียง 2.6% เท่านั้น

 

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย คาดการณ์ย่ำแย่ยิ่งกว่า ด้วย GDP ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.5-2% เท่านั้น

 

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า อาจต้องรอถึงปี 2023 เศรษฐกิจไทยถึงจะพื้นตัว จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022

 

 

 

กรุงเทพฯ อ่วม - โรงงานปิด

 

กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระบมหนักจากคลัสเตอร์มากมายที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็น ตามห้างสรรพสินค้า ชุมชนแออัด ตลาดต่าง ๆ และแคมป์คนงานก่อสร้าง

 

 

ส่วนจังหวัดอื่น ๆ โรงงานมากมายต้องปิดทำการจากคลัสเตอร์โรงงานหลายจุด จนกระทบต่อภาคการผลิต ซึ่งเป็นอีกตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

 

บริษัท Cal-Comp Electronics, Western Digital, Seagate, Hewlett Packard และ Panasonic ล้วนระงับสายการผลิตในเพชรบุรี เมื่อเดือนที่แล้ว

 

 

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนที่คลุมเครือของไทย จะกระทบภาคการผลิตที่เน้นแรงงานอย่างมาก ทั้ง การผลิตอาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และสิ่งทอ

 

 

 

ปูพรมฉีด แต่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด

 

ประเทศไทยเริ่มการปูพรมฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ชาวไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรภายในสิ้นปี

 

 

แต่ปัญหาขาดแคลนวัคซีน ทำให้ตอนนี้ ฉีดวัคซีนให้คนไทยได้ราว 6% เท่านั้น ขณะที่ประชาชนโอดครวญในสังคมออนไลน์ว่า โดนเลื่อนฉีดวัคซีน

 

 

ประเทศไทยหวังจะฟื้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ด้วยกำหนดเปิดการท่องเที่ยวในภูเก็ต ให้นักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัว และยังกำลังพิจารณษนโยบายกักตัวคล้ายกันในจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย

 

 

 


“จัดการโควิดต่ำกว่ามาตรฐาน”

 

แต่ ศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์สาขาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตือนว่า การท่องเที่ยวยุคหลังโควิดอาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

 

 

“การบริหารจัดการโควิดของรัฐบาลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีน จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติได้ช้า จนประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้” เธอ กล่าว

 

 

แม้รัฐสภาจะอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อเยียวยาประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาการระบาดของโควิด แต่ ศ.ดร.ภวิดา ชี้ว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ช่วย SMEs มากนัก เพราะพวกเขาต้องการเงินสดเพื่อความอยู่รอด

 

 

“เงินกู้ SME ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคาร แล้วยิ่งเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะป่วยหนัก ยิ่งยากที่จะจูงใจให้ธนาคารเห็นศักยภาพทางธุรกิจ เพื่อยอมปล่อยเงินกู้ กลายเป็นวงจรอุบาทย์ที่ทำให้ SMEs เข้าถึงเงินทุนได้ยาก”

 

 


SME กำลังขาดอากาศหายใจ

 

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในภาคบริการ ถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด จากรายได้การท่องเที่ยวที่ขาดหายไป การกู้เงินก็ทำได้ยาก แม้เปิดกิจการได้แล้ว แต่ลูกค้าก็ยังไม่มากเหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะเม็ดเงิตจากต่างชาติที่หายไป

 

 

เจ้าของร้านชายเสื้อที่ประตูน้ำรายหนึ่งบอกว่า ขอกู้เงิน 5 แสนบาท แต่ถูกปฏิเสธ ทั้งที่เขาเคยมีรายได้ 5 แสนถึง 1 ล้านบาทต่อเดือน แต่ตอนนี้ กำลังกระเสือกกระสนจ่ายค่าเช่าเดือนละ 2 หมื่นบาท ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่ทางประตูน้ำลดให้แล้ว จากเดิมค่าเช่าเดือนละ 1 แสนบาท

 

 

 

ภาคการท่องเที่ยวที่ไม่รู้กี่ปีจะฟื้นตัว


ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ทยอยล้มหายตายจากบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปเวียดตาม

 

แล้วจะเหลืออะไรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้ฟื้นตัวกลับมาได้อีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง