อินเดียเลื่อนส่งนักบินอวกาศ Gaganyaan คนแรกไปปี 2027 ตั้งเป้าชาติที่ 4 ของโลกที่ทำสำเร็จ

วันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียประกาศเลื่อนการส่งนักบินอวกาศคนแรกของประเทศภายใต้ภารกิจกากันยาน (Gaganyaan) ออกไปเป็นช่วงต้นปี 2027 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2022 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านเทคโนโลยีอวกาศ และยกระดับอินเดียให้เป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจรโลกได้โดยอิสระ ต่อจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน
จิเทนดรา สิงห์ (Jitendra Singh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอวกาศของอินเดีย เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมว่า ก่อนจะมีการส่งมนุษย์จริง อินเดียจะดำเนินภารกิจ ไร้มนุษย์ 3 ครั้ง โดยเริ่มจาก ภารกิจ G1 ที่มีกำหนดปล่อยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2568 โดยจะบรรทุกหุ่นยนต์ครึ่งมนุษย์ชื่อว่าวโยมิตร (Vyomitra) แปลจากภาษาสันสกฤตว่า "เพื่อนในอวกาศ" เพื่อเก็บข้อมูลการบินในวงโคจร
ภารกิจถัดไป G2 และ G3 จะปล่อยตามลำดับในปี 2569 และจะใช้หุ่นยนต์วโยมิตร (Vyomitra) เช่นเดียวกัน เพื่อทดสอบระบบสนับสนุนชีวิตและโครงสร้างยานก่อนปล่อยภารกิจที่มีมนุษย์ร่วมเดินทาง
การส่งนักบินอวกาศอินเดียจริงครั้งแรกจะเกิดขึ้นใน ภารกิจ H1 ช่วงไตรมาสแรกของปี 2570 โดยใช้ จรวด HLVM3 (Human-rated Launch Vehicle Mark-3) ซึ่งเป็นจรวดสี่ขั้นสูง 143 ฟุต หรือ 43.5 เมตร พร้อมระบบขับดันเชื้อเพลิงแข็งสองตัวและหอดีดแคปซูลที่สามารถแยกยานออกจากจรวดได้ในกรณีฉุกเฉิน
Crew Module Mockup (CMRM)
นักบินอวกาศ 4 คน ที่ผ่านการคัดเลือกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สำหรับภารกิจ H1 และ H2 ได้แก่:
ปราศานต์ บาลากฤษณัน แนร์ (Prasanth Balakrishnan Nair)
อาจิต กฤษณัน (Ajit Krishnan)
อังกัด ประตาป (Angad Pratap)
ชุบฮันชู ชุคลา (Shubhanshu Shukla)
ทั้ง 4 คนเป็นนักบินทดสอบจากกองทัพอากาศอินเดีย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงสุดท้ายของการฝึก
สำหรับภารกิจ H1 จะพานักบินอวกาศขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกเป็นเวลา 3 วัน ก่อนกลับสู่พื้นโลก และจะตามมาด้วยภารกิจ H2 ที่ยังไม่ระบุกรอบเวลาชัดเจน
นายซิงห์ยังระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานของกากันยาน (Gaganyaan) คืบหน้าไปแล้วกว่า 90% รวมถึงอินเทอร์เฟซของแท่นปล่อยจรวด ศูนย์ควบคุมภารกิจ ระบบการอพยพลูกเรือ และเครือข่ายสื่อสาร โดยระบบขับเคลื่อนและโครงสร้างหลักได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบและบูรณาการก่อนเข้าสู่ภารกิจจริง