รีเซต

ชี้ชัด "หัวลูกศรยุคสำริด" ทำจากอุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 3,500 ปีก่อน

ชี้ชัด "หัวลูกศรยุคสำริด" ทำจากอุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 3,500 ปีก่อน
TNN ช่อง16
15 สิงหาคม 2566 ( 15:48 )
161

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยผลการวิเคราะห์หัวลูกศรยุคสำริด (Bronze Age) อายุมากกว่า 3,000 ปี ที่ค้นพบในปี 1800 บริเวณทะเลสาบบีล เมืองโมริเกน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถูกทำขึ้นมาจากอุกกาบาตที่เคยพุ่งชนโลกเมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล หรือราว 3,500 ปีก่อน โดยผลการศึกษาดังกล่าว กำลังจะถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Archaeological Science ฉบับเดือนกันยายน 2023


ศาสตราจารย์เบดา ฮอฟมันน์ (Prof. Dr. Beda Hofmann) หัวหน้าและภัณฑารักษ์ด้านแร่วิทยาและอุกกาบาตในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเบิร์น เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทีมงานได้ใช้วิธีการตรวจสอบด้านวิทยาศาสตร์หลายรูปแบบเพื่อตรวจสอบส่วนประกอบของโลหะในหัวลูกศรที่มีขนาดความยาว 39 มิลลิเมตร น้ำหนัก 2.9 กรัม หรือประมาณฝ่ามือมนุษย์ รวมไปถึงการใช้เครื่องเอกซเรย์และ Gamma-ray Spectrometer (GRS) หรือเครื่องตรวจจับสารกัมมันตภาพรังสีที่ปล่อยรังสีแกมมา 


นักวิทยาศาสตร์พบว่าหัวลูกศรมีไอโซโทปอะลูมิเนียม-26 ที่ค่อนข้างต่ำสามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นโลหะที่มีต้นกำเนิดจากภายในของอุกกาบาตที่มีมวลอย่างน้อย 2 ตัน และไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนโลก ซึ่งมวลของอุกกาบาตอาจจะโดนเผาไหม้ระหว่างทางที่เดินทางมาโลก นอกจากนี้ยังพบส่วนผสมของน้ำมันดิน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนผสมให้หัวลูกศรยึดติดกับก้านของธนู


ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าหัวลูกศรมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งอุกกาบาตทวานเบิร์ก  (Twannberg) อายุ 170,000 ปี ซึ่งอยู่ห่างจากบริเวณที่ค้นพบหัวลูกศรไม่ถึง 8 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าความเข้มข้นของนิกเกิลและเจอร์เมเนียม องค์ประกอบทางเคมีบางชนิดในหัวลูกศรกลับไม่ตรงกัน แต่กลับพบว่ามีองค์ประกอบเหมือนกับแหล่งอุกกาบาตคาลิยาร์ฟ (Kaalijarv) ในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 2,250 กิโลเมตร ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าในยุคสำริด (Bronze Age) อาจมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนหัวลูกศรเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ทั้ง 2 แหล่ง


สำหรับยุคสำริด (Bronze Age) นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์เริ่มเรียนรู้การสร้างสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นมาจากการใช้แร่ธาตุต่าง ๆ รวมไปถึงอาวุธ วิธีสร้างโลหะสำริดทำได้โดยนำทองแดงและดีบุกมาหลอมรวมกัน โลหะสำริดที่ได้มีความแข็งแรงและทนทานมากกว่าหิน ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถออกล่าสัตว์หรือทำสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามยุคสำริดสิ้นสุดลงในช่วงเวลา 3,000-5,000 ปีก่อน และเข้าสู่ยุคเหล็ก (Iron Age) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มเรียนรู้การใช้งานแร่เหล็ก


การค้นพบสิ่งประดิษฐ์หัวลูกศรของมนุษย์ที่ทำจากอุกกาบาตในยุคสำริดถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากพบเพียงไม่กี่ร้อยชิ้นในโลก โดยในปัจจุบันคาดว่ามีการค้นพบเพียง 55 ชิ้น จากแหล่งโบราณคดี 22 แห่ง บริเวณทวีปยูเรเชีย มหาทวีปที่รวมเอาทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และทวีปเอเชียเข้าด้วยกัน รวมไปถึงบริเวณพื้นที่บางส่วนของทวีปแอฟริกา ตามการเปิดเผยของศาสตราจารย์เบดา ฮอฟมันน์ (Prof. Dr. Beda Hofmann) หัวหน้าและภัณฑารักษ์ด้านแร่วิทยาและอุกกาบาตในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเบิร์น หัวลูกศรของมนุษย์ที่ทำจากอุกกาบาตในยุคสำริดชิ้นนี้ เตรียมถูกนำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เบิร์นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 จนถึง 25 เมษายน 2025


ที่มาของข้อมูล CNNSpace 

ที่มาของรูปภาพ NMBE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง