รีเซต

กางแผนนำเข้าวัคซีนโควิดของไทย ซิโนแวค แอสตร้า ไฟเซอร์ จอห์นสัน จะได้ฉีดเมื่อไหร่?

กางแผนนำเข้าวัคซีนโควิดของไทย ซิโนแวค แอสตร้า ไฟเซอร์ จอห์นสัน จะได้ฉีดเมื่อไหร่?
Ingonn
22 กรกฎาคม 2564 ( 16:02 )
226

 

ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศจะจัดหาวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้ประชาชน 100 ล้านโดสในปี 2564 พร้อมหารือผู้นำเข้าวัคซีนโควิด 6 ราย ทั้งชนิด mRNA ไวรัลเวคเตอร์ และเชื้อตาย เพื่อวางแผนจัดหาวัคซีนปี 2565 อีกจำนวน 120 ล้านโดส รองรับการกลายพันธุ์ของโควิด โดยจะจัดหาให้ประเทศไทยทั้งจำนวนและช่วงเวลาส่งของ ส่วนวัคซีนแพลตฟอร์มอื่นจะมีการหารือเพิ่มเติม

 

 


วันนี้ TrueID จึงมัดรวมสรุปแผนการเตรียมนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไทย ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง และในปีนี้จะมีวัคซีนชนิดไหนเข้ามาบ้าง

 

 


ทำความเข้าใจ วัคซีนหลัก VS วัคซีนทางเลือก มีอะไรบ้าง

 


วัคซีนหลัก เป็นวัคซีนที่ประชาชนจะได้ฉีดฟรี โดยรัฐบาล ได้นำเข้าและให้บริการฉีดวัคซีน 


ได้แก่ แอสตราเซนเนกา ซิโนแวค ไฟเซอร์ และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 

 

 

วัคซีนทางเลือก เป็นวัคซีนอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่มีกำลังจ่าย และจัดบริการโดยโรงพยาบาลเอกชน 


ได้แก่ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา

 

 


แผนการจัดหาวัคซีนจาก สธ. ล่าสุด


การจัดหาวัคซีนโควิด-19 มีการลงนามจองซื้อและจะส่งมอบตามสัญญาแล้ว จำนวน 100 ล้านโดสในปี 2564 ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดสแต่ความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนมีจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาเพิ่มเติมและแจ้งความคืบหน้าต่อไป แต่ยังมีวัคซีนจากหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกันนำเข้า เช่น วัคซีนซิโนฟาร์มโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ทำให้ประเทศไทยสามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมในภาวะความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนที่มีจำนวนมาก ถือว่านำเข้าได้แล้ว 100 ล้านโดส 

 

 

สำหรับปี 2565 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติให้จัดหาเพิ่มเติมอีก 120 ล้านโดส และเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับการกลายพันธุ์ได้

 

 

 

แนวทางเร่งรัดเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 

 

1.เร่งเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์

 


2.เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจาก Viral vector หรือ mRNA 

 


3.สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่

 

วิจัยพัฒนาในประเทศ และการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 

 


4.สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 

 


5.ติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์

 

 


ทั้งนี้ แผนการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีน ศบค. ทำงานร่วมกันในระดับนโยบายมีคำแนะนำด้านวิชาการจากคณะแพทย์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ รัฐบาลโดย สธ.จะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

 

 


วัคซีนไฟเซอร์ เข้าไทยไตรมาส 4 ส่วนสหรัฐฯ บริจาค เข้าสิ้นเดือน


ทาง สธ. ได้มีการลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส ระหว่างกรมควบคุมโรค กับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย จำนวน 20 ล้านโดส โดยกำหนดการตามแผนที่วางไว้ คือ ส่งมอบในไตรมาสที่ 4 และยังมีข่าวดีว่า ทางสหรัฐอเมริกาจะส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ให้ประเทศไทยอีก 1.5 ล้านโดส เป็นการบริจาคจากรัฐบาลอเมริกามาไทยปลายเดือนก.ค.นี้ จากนั้นเมื่อเซ็นสัญญาแล้ว สำหรับในปี 2565 จะมีการเจรจาหาวัคซีนเพิ่มต่อไป

 

 

วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 นับเป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 6 ของไทย ซึ่งแผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน และขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป

 

 

ใครได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาค 


1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิดที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส 

 


2.กลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด 

 


3.ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด

 

 


แอสตร้าเซนเนก้ามอบวัคซีนเดือนละ 5-6 ล้านโดส


ในสัญญาส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เดือนนี้ส่งเท่าไหร่ แต่จะเป็นการเจรจาเดือนต่อเดือน เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ และมีความต้องการสูง แต่เบื้องต้นทางบริษัทแอสตร้าฯ แจ้งผ่านหลายช่องทางว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทยประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดส ส่วนจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับกำลังผลิต ขณะที่ประเทศไทยเรากำหนดแผนฉีดวัคซีนเดือนต่อไปจะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยอีก 10 ล้านโดส จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

 

 

สำหรับการลงนาม 3 ฝ่ายระหว่างกรมควบคุมโรค แอสตร้าเซนเนก้า และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563 มีข้อตกลงว่าจะไม่เปิดเผยความลับในสัญญา ถ้าจะเปิดเผยต้องได้รับความยินยอม 3 ฝ่าย มิเช่นนั้นถือว่าทำผิดสัญญาและอาจถูกยกเลิกไม่มีการส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ในสัญญาไม่ได้มีประเด็นอะไรซับซ้อน แต่ภาคเอกชนคำนึงถึงความลับทางการค้าที่อาจมีผลกับการทำสัญญากับอีกหลายประเทศ

 

 


ทำไมถึงนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมากกว่าชนิดอื่น


เนื่องจากซิโนแวคเป็นวัคซีนที่สามารถจัดส่งได้ในช่วงเวลานี้ที่ประเทศไทยกำลังเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ ส่วนวัคซีนตัวอื่นยังต้องรอการจัดส่ง ทางกรมควบคุมโรค เห็นว่า เพื่อเป็นการป้องกัน ควบคุมโรค และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย และประชาชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของประเทศ จึงขอความอนุเคราะห์องค์การเภสัชกรรมนำเข้าวัคซีนโคโรนาแวค หรือซิโนแวค เพิ่มเติม โดยล่าสุดขอนำเข้าเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส เป็นกรณีเร่งด่วน

 

 


ประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคในไทยที่ต้องรู้


กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยรายงานการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค จากสถานการณ์จริง ที่ได้นำมาฉีดให้กับคนไทยใน 4 แหล่ง มีดังนี้

 

1. จ.ภูเก็ต ได้ติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ช่วงเดือนเม.ย. - พ.ค. 2564 จำนวนกว่า 1,500 ราย พบการติดเชื้อ เพียง 124 ราย หากเทียบกันระหว่างผู้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.7%

 


2. จ.สมุทรสาคร ได้ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กว่า 500 ราย ช่วงเดือนเม.ย. 2564 พบติดเชื้อ 116 ราย ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.5%

 


3. จ.เชียงราย ได้ศึกษากรณีการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุข ช่วงเดือนมิ.ย. 2564 กว่า 500 ราย พบการติดเชื้อ 40 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความรุนแรงเรื่องปอดอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็มป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88.8% และป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9%

 

สำหรับ บุคลากรที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มครบ 14 วัน ป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 83.8%

 


4. กรมควบคุมโรค ได้ใช้ฐานข้อมูลติดตามบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อทั้งประเทศ และข้อมูลการรับวัคซีน ตั้งแต่ 1 พ.ค. - 30 มิ.ย. 2564 พบว่า ประสิทธิผลอยู่ที่ 71%

 


โดยช่วงเดือนพ.ค. 2564 ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์อัลฟา ประสิทธิผลอยู่ที่ 75% และช่วงเดือนมิ.ย. 2564 ที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาแทนที่อัลฟาประสิทธิผลอยู่ที่ประมาณ 20 - 40%

 

 

ดังนั้น หากฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อ จากสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณร้อยละ 90 และป้องกันปอดอักเสบได้ร้อยละ 85 ส่วนประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาขณะนี้ ถือว่ายังคงที่คือร้อยละ 75 ซึ่งไม่ต่างจากเดิมที่ร้อยละ 71

 

 

สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น และการฉีดสลับประเภทของวัคซีนนั้น จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการ พบว่าจะสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้ได้สูงกว่าเดิมได้รวดเร็วและสูงมากขึ้น

 

 

 

วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอยู่ไหน


วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นวัคซีน รายที่ 3 ที่ อย.ไทย ให้การรับรอง ตั้งแต่ 25 มี.ค. 64 บริษัทและประเทศผู้ผลิต คือ บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด เทคโนโลยีการผลิต ไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector vaccines) 

 


ก่อนหน้านี้ เคยมีการเจรจาจัดซื้อไว้อยู่ที่ จำนวน 5 ล้านโดส และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอลงนามบันทึกการสั่งซื้อวัคซีน แม้นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สธ. เคยระบุไว้ว่า ไม่สามารถติดต่อได้ก็ตาม

 

 

 

 

ข้อมูลจาก Hfous , กรมควบคุม โรคกระทรวงสาธารณสุข , เพจไทยคู่ฟ้า

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง