รีเซต

#CovaxNowThailand เปิดเหตุผลทำไมไทยไม่เข้าโครงการ Covax ขณะที่เพื่อนบ้านได้วัคซีนหมดแล้ว

#CovaxNowThailand เปิดเหตุผลทำไมไทยไม่เข้าโครงการ Covax ขณะที่เพื่อนบ้านได้วัคซีนหมดแล้ว
Ingonn
21 กรกฎาคม 2564 ( 17:28 )
1.8K
#CovaxNowThailand เปิดเหตุผลทำไมไทยไม่เข้าโครงการ Covax ขณะที่เพื่อนบ้านได้วัคซีนหมดแล้ว

 

เคยสงสัยไหมว่าทำไมวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไทยถึงมาช้า ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา ได้วัคซีนอย่างต่อเนื่องจากโครงการโคแวกซ์ หรือ COVAX ซึ่งวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากโครงการนี้ล้วนเป็นวัคซีนยี่ห้อดัง อย่าง วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไทยยังเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่เข้าร่วมอีกด้วย

 

 

วันนี้ TrueID จึงจะพามาดูเหตุผลของสาธารณสุขไทย ที่ไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ในวันที่ประเทศเพื่อนบ้านได้วัคซีน mRNA และฉีดกันจนใกล้ครบทั่วประเทศแล้ว

 

 

 

รู้จักโครงการ COVAX


โครงการวัคซีน COVAX ย่อมาจาก Covid-19 Vaccines Global Access Facility นั้น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่ WHO ได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรวัคซีน (The Vaccine Alliance) หรือ Gavi และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) หรือ CEPI จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี 2563 ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดช่วงแรก ๆ และกำลังลุกลามไปทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้ประเทศร่ำรวยและยากจนได้รับส่วนแบ่งวัคซีนโควิด-19 กันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

 

 

WHO ริเริ่มโครงการนี้ เพื่อให้การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของชาติต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ปัจจุบันมี 190 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ ในจำนวนนี้มี 92 ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่จะได้รับวัคซีนฟรีเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของประชากร โดย WHO ตั้งเป้าจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประเทศที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,000 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้

 

 

 

ประเทศอาเซียนกับโครงการ COVAX


ในอาเซียนมีประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19  

 

 

 

วัคซีนโควิด-19 ในโครงการ COVAX


สั่งซื้อและกระจายในระลอกแรก เป็นวัคซีนจากแอสตราเซนเนกา 240 ล้านโดส ซึ่งอนุญาตให้สถาบันเซรุ่มของอินเดียเป็นผู้ผลิต อีก 96 ล้านโดส มาจากการจัดซื้อโดยตรงจากแอสตราเซนเนกา และ ไฟเซอร์/ไบออนเทค อีก 1.2 ล้านโดสจัดซื้อจาก จัดส่งให้กับประเทศเพียง 18 ประเทศช่วงปลายเดือนมีนาคม เช่น โคลอมเบีย, เปรู, ฟิลิปปินส์, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้ และยูเครน ได้รับมากที่สุดชาติละ 1.17 แสนโดส เพราะต้องใช้ตู้แช่แข็งพิเศษสำหรับเก็บรักษาให้อยู่ในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส

 

 

 

ประเทศที่ที่เข้าร่วมโครงการ COVAX 


จะได้รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วนตามจำนวนประชากร มากที่สุด คือ 


- อินเดีย ที่ 97.2 ล้านโดส


- ปากีสถาน 17.2 ล้านโดส


- ไนจีเรีย 16 ล้านโดส


- อินโดนีเซีย 13.7 ล้านโดส


- บังกลาเทศ 12.8 ล้านโดส 


- บราซิล 10.6 ล้านโดส


- เอธิโอเปีย 8.9 ล้านโดส 


- เม็กซิโก 6.5 ล้านโดส 


- ฟิลิปปินส์ 5.6 ล้านโดส


- เวียดนาม 4.8 ล้านโดส


- เกาหลีใต้ 2.7 ล้านโดส


- เกาหลีเหนือ 1.9  ล้านโดส


- กัมพูชา 1.2 ล้านโดส


- ลาว 564,000 ล้านโดส


- สิงคโปร์  288,000 ล้านโดส

 

เป็นต้น

 

 

 

ทำไมไทยไม่เข้าร่วมโครงการ


ประเทศไทยมีแผนเข้าร่วมจัดหาวัคซีนจาก COVAXมาตั้งแต่ต้น ถึงขั้นส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ และมีการตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย ฯลฯ เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการทำข้อตกลงเข้าร่วมโครงการ แต่สุดท้ายเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของไทยต่างเห็นพ้องตรงกันว่า โครงการนี้มีเงื่อนไขหลายข้อที่ทั้งเสี่ยงและไม่คุ้มค่าต่อการเข้าร่วม

 

 

 

เงื่อนไขที่ทำให้ไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX 

 

1.โครงการ COVAX จะมอบวัคซีนให้ฟรีเฉพาะประเทศยากจนเท่านั้น โดยที่ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง จึงไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรี ในอาเซียนมีประเทศที่รับวัคซีนฟรี ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา

 

 

2.ไทยต้องนำเงินไปลงขันในการจัดหาวัคซีน ทั้งที่ในเวลานั้น COVAX ยังไม่ทราบเลยว่า จะคัดเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใด เพราะผู้ผลิตทุกรายต่างอยู่ในขั้นตอนวิจัยพัฒนาทั้งสิ้น และไม่มีข้อมูลมายืนยันได้ว่า วัคซีนที่ผลิตออกมาจะมีประสิทธิภาพ หรือความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

 

 

3.หากไทยสั่งจองซื้อวัคซีน จะต้องจ่ายราคาตามที่ผู้ผลิตเสนอ ไม่สามารถต่อรองราคาได้ และต้องยอมรับทุกเงื่อนไข รวมทั้งต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าขนส่ง ค่าขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศ และภาษี

 

 

4.หากไทยสั่งจองซื้อวัคซีนจาก COVAX จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการดำเนินการให้ COVAX ด้วย โดยคิดเพิ่มจากค่าวัคซีน หากจองแบบเลือกไม่เลือกผู้ผลิต ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 1.6 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อโดส หากจองแบบเลือกผู้ผลิต ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 3.5 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อโดส แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีอิสระในการเลือกผู้ผลิต เพราะ WHO จะเป็นผู้คัดกรองรายชื่อผู้ผลิตมาให้ประเทศสมาชิกเลือก โดยขณะนี้ COVAX ได้ทำความตกลงไว้กับผู้ผลิตเพียง 4 รายเท่านั้น ได้แก่ แอสตราเซเนกา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ชาโนฟี/จีเอสเค และไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค 

 

 

แม้ CEPI จะได้ลงทุนการวิจัยวัคซีนไปกับ 10 บริษัท แต่ก็มีบริษัทที่ผลิตสำเร็จแล้วเพียง 3 บริษัท ได้แก่ แอสตราเซเนกา โมเดิร์นนา และโนวาแวค นอกนั้น มีทั้งบริษัทที่เลิกล้มการทดลองไปแล้ว 1 บริษัท และอยู่ระหว่างทดลองอีก 6 บริษัท แม้แต่วัคซีน Spudnik จากรัสเซีย และจากซิโนแวคและซิโนฟามของจีน ก็ไม่ได้เข้าร่วมใน COVAX ด้วย

 

 

 

5.ไทยจะไม่ได้รับเงินคืน หากยกเลิกสัญญาสั่งซื้อ แม้ว่าการยกเลิกสัญญานั้นเกิดจากการพัฒนาวัคซีนไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการ COVAX จึงไม่ต่างไปจากการแทงหวย ที่ผู้เล่นไม่สามารถเจรจาต่อรองอะไรกับเจ้ามือได้เลย และ COVAX ก็ทำหน้าที่ประหนึ่งพ่อค้าคนกลางเท่านั้น

 

 

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญของไทยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจึงพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วต่างเห็นพ้องว่า ไม่สมควรที่จะนำงบประมาณจากภาษีประชาชนไปเสี่ยง โดยคำนึงถึงปัจจัยบวกที่ว่า รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

 

 

 

 

 

 

 

ไทยซื้อวัคซีนไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง


ไทยเลือกวิธีเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรงโดยเน้นเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และซื้อโดยไม่ผ่านคนกลาง เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถต่อรองราคาได้หากซื้อเป็นจำนวนมาก และบริษัทยังตกลงที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนดังกล่าวให้ไทย ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้ บริษัทแอสตราเซเนกาได้เลือก บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทย และจะเริ่มผลิตวัคซีนออกมาในเดือนมิถุนายน ตามคำสั่งซื้อล็อตแรกจากรัฐบาลไทยจำนวน 26 ล้านโดส 

 

 

นอกจากนี้ ไทยยังได้สั่งซื้อวัคซีนเป็นการเร่งด่วนจากซิโนแวคและอยู่ระหว่างเจรจาโดยตรงกับผู้ผลิตรายอื่น ๆ 

 

 

 

ดังนั้น ข้อเท็จจริงในประเด็นโครงการ COVAX จึงสรุปได้ว่า “ไทยไม่ได้ตกขบวน” แต่เลือกที่จะไม่อยู่ในขบวน เพื่อกำหนดเส้นทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศด้วยตนเอง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน และความคุ้มค่าของงบประมาณที่จะต้องจ่ายไปเป็นหลัก

 

 

 

 

#CovaxNowThailand ปลุก สธ. แย้มเข้าโคแวกซ์

 

ก่อนหน้านี้โลกออนไลน์ต่างต้องการคำตอบว่า ทำไมวัคซีนไทยจัดหาล่าช้า ทำให้ล่าสุดนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาขอโทษประชาชนทุกคนอย่างยิ่ง ที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้จะพยายามเต็มที่แล้วในการจัดหาวัคซีน แต่อาจจะได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่ขณะนี้

 

 

และระบุอีกว่า ไทยยังคงอยู่ในโครงการโคแวกซ์ แต่ยังไม่มีการลงนามในการทำความร่วมมือการจัดหาวัคซีนร่วมกันผ่านโครงการ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้มีการเตรียมการเริ่มเจรจา และได้ส่งข้อความประสานงานไปที่หน่วยงานที่ชื่อว่า "กาวี" นั่นคือ องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน หนึ่งในหน่วยงานของโครงการโคแวกซ์ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ในการขอเจรจาร่วมกับโครงการโคแวกซ์

 

 

โดยมีเป้าหมายในการได้รับวัคซีนในปีหน้าเพิ่มเติมจากการที่ไทยเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็จะทำเรื่องให้คณะทำงาน คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี , PPTV , BBC , hfocus

 

 

 

 

-------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง