รีเซต

สายการบินสุดทนทวงซอฟท์โลนจากรัฐ ยื้อลมหายใจก่อนตายยกฝูง

สายการบินสุดทนทวงซอฟท์โลนจากรัฐ ยื้อลมหายใจก่อนตายยกฝูง
TNN ช่อง16
28 กรกฎาคม 2564 ( 12:17 )
128

ธุรกิจการบินทั่วโลกอ่วมระนาวตั้งแต่ปี 63 ที่ผ่านมาจวบจนมาถึงปัจจุบัน หลังจากโควิดมรณะปกคลุมไปทุกมุมโลก ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยประกาศซัตดาวน์ประเทศปิดน่านฟ้า ห้ามประชาชนเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


หลายสายการบินในต่างประเทศถึงขึ้นไปต่อไม่ไหว ต้องประกาศปิดกิจการเช่น "Flybe" สายการบินสัญชาติอังกฤษ  Avianca Airlines สายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของลาตินอเมริกา รวมถึงนกสกู๊ดสายการบินประหยัดของไทยที่ร่วมทุนกับสิงคโปร์ ทำให้คนตกงานจากการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมหาศาล


ส่วนที่ยังเปิดบริการก็อาการร่อแร่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เพราะรายได้หดหาย และต้องแบกภาระต้นทุนที่หนักหน่วง มีแต่รายจ่ายไม่มีรายรับ ความหวังที่จะฟื้นตัวกลับมาด้วยตัวเอง จากแผนการทยอยเปิดประเทศ ก็ต้องดับวูบไปจากการระบากระลอกรุนแรงของโควิดในประเทศ


 เมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ ผู้ประกอบการธุรกิจการบินในประเทศทนต่อไปไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาทวงถามซอฟท์โลนจากรัฐบาลเพื่อหวังใช้เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับธุรกิจฝ่าฟันวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางตัน


ล่าสุดซีอีโอ 7 สายการบิน นำโดย"พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ" สมาคมสายการบินประเทศไทย แม่ทัพใหญ่ของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหา ชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ออกกระทุ้งถามเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนจากภาครัฐ หลังจากที่สมาคมฯ ยื่นข้อมูลให้รัฐรอบเเรกเมื่อเดือนมี.ค.63 และเข้าพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ส.ค.63 แต่จนถึงปัจจุบันยังไร้วี่แววได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน หรือราว 17 เดือน


นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังยอมหั่นตัวเลขซอฟท์โลนที่ต้องการของทั้ง 7 สายการบิน จากจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ที่เคยตั้งเรื่องยื่นขอไปตั้งแต่เดือนมี.ค.63 เหลือเพียง 5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 2 หมื่นคนในครึ่งปีหลังของปีนี้


"ตลอด 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง 7 สายการบินได้พยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเอง เเละปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจให้รอดจากสถานการณ์อันยากลำบากครั้งนี้ โดยต้องแบกต้นทุนการจ้างงานอย่างเดียว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟต์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว"


สอดรับกับ "ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์"ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่มองว่า ขณะนี้สถานการณ์ธุรกิจการบินมืดมน การฟื้นตัวกลับ และมาตรการต่างๆ ที่เคยขอภาครัฐไปก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ จนขณะนี้ผู้ประกอบการไม่เหลือสภาพคล่องจะเดินธุรกิจต่อแล้ว


"ต้องบอกเลยว่าธุรกิจวายวอดหมด สภาพคล่องหมดหน้าตัก สิ้นเดือนนี้ก็จะไม่มีสภาพคล่องจ่ายเงินเดือนพนักงาน  เพราะมาตรการช่วยเหลือที่เราเคยขอภาครัฐไปไม่เคยได้รับความสนใจเลย" 



นอกจากนี้ยังฝากคำถามไปถึงรัฐบาลว่า หากธุรกิจในประเทศเจ๊งหมด ตายหมด ไม่สามารถเสียภาษีได้ รัฐบาลจะเอางบประมาณจากที่ไหนมาใช้ และทำไมไม่เร่งช่วยเหลือ หรือปล่อยกู้ เพื่อต่อลมหายใจให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ เพื่อที่จะมีเงินมาเสียภาษีให้กับภาครัฐ


เช่นเดียวกับ "นายวรเนติ หล้าพระบาง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่มีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด ซึ่งไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อนานแค่ไหน และภาพรวมธุรกิจสายการบินจะเป็นอย่างไร เพราะตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีน การกระจายวัคซีน และสภาพคล่องของแต่ละสายการบิน  ซึ่งห่วงว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อจนทำให้สายการบินต้องหยุดบินเกิน 3 เดือน วันนั้นคงไม่มีสายการบินเหลืออยู่บนหน้าฟ้าแล้ว ตายหมดทุกรายแน่นอน


ฝั่ง "นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาขยายเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินออกไปอีก จากเดิมที่จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ รวมทั้งการให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมสนามบิน และค่าบริการการจราจรทางอากาศด้วย เนื่องจากธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ หากไม่มีสายการบินให้บริการจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้


ด้าน "นางชาริตา ลีลายุทธ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทยสมายล์ อุปนายกสมาคมฯ ได้เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่ม รมว.แรงงาน เพื่อขอให้ช่วยดูแลการจ้างงานของพนักงาน 2 หมื่นคน ซึ่งกระทรวงแรงงานพร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่มีข้อจำกัด เพราะสามารถช่วยเหลือได้เฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมเท่านั้น ไม่สามารถช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยสามารถปล่อยกู้ให้สมาคมได้เพียง 15 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน  โดยกระทรวงแรงงานรับปากที่จะไปหาทางออกให้ต่อไป


ทันทีที่ภาคเอกชนรวมพลังทวงถามซอฟท์โลนดังกล่าว ทำให้หน่วยงานรัฐถึงกับนั่งไม่ติด ออกมาชี้แจงว่าได้จัดให้มีมาตรการ ช่วยเหลือไปตั้งแต่โควิดรอบแรกกันแล้ว โดย "นายทินกร ชูวงศ์" รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทยจำกัด (บวท.) ระบุว่า ได้ให้ความช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับผลกระทบตามมติคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.)ไปตั้งแต่เดือนมี.ค.63 เรื่อยมา ทั้งการยกเว้นค่าปรับจากการชำระล่าช้าของสายการบิน การปรับลดค่าบริการการเดินอากาศลง 50% สำหรับเที่ยวบินทั้งภายในและต่างประเทศ


การช่วยเหลือต่างๆ อย่างเต็มที่กับสายการบิน ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ บวท. ที่มีจำกัดอย่างรุนแรง เนื่องจากรายได้หลักของ บวท. มาจากการให้บริการการเดินอากาศ เมื่อปริมาณเที่ยวบินลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้จึงลดลงเช่นกัน แม้ว่า บวท. จะมีมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายในองค์กร ที่ไม่กระทบต่อภาคความปลอดภัยในการให้บริการ แล้วก็ตาม แต่รายได้ก็ยังคงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น


นอกจากนี้ บวท. ได้คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินในปีงบประมาณ 64 (ต.ค. 63-ก.ย.64) ว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินลดลงจากปี 63 ถึง 56% ทำให้ปี 64 บวท.จะมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย 6,600 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไปถึงปี 2565 จึงทำให้ ปัจจุบัน บวท. ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่มีความสามารถให้ความช่วยเหลือสายการบินตามมาตรการช่วยเหลือต่อไปได้ และกำลังจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะสั้นเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องในปี 64-65


ส่วน "นิตินัย ศิริสมรรถการ" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน) หรือ. ทอท. ก็ได้ชี้แจงว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการลด/ยกเว้น ค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน(Landing Charges) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) ค่าเช่าสำนักงาน และค่าบริการต่างๆ ซึ่งขยายระยะเวลาจากเดิมที่สิ้นสุดเดือนธ.ค. 64 ออกไปถึงเดือน มี.ค.65


 นอกจากนั้น ยังได้อนุญาตให้สายการบินเลื่อนชำระหนี้สินคงค้างของสายการบินตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 63 อีกทั้งได้ผ่อนผันการวางหลักประกันเงินสดสำหรับสายการบินที่มีหนี้สิน ค้างชำระกับ ทอท. ที่ประสงค์จะทำการบินต่อไปด้วย


แม้หน่วยงานภาครัฐจะยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ทยอยให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถแล้ว แต่เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนก็ทำให้รู้ว่า ธุรกิจเริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤติ ถ้าไม่มีเงินทุนหมุเวียนมาเติมหน้าหนักในเร็ววันนี้


ขณะที่จุดพลิกผันที่จะทำให้ธุรกิจกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง คือการเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ สร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติต้องสปีดให้มากกว่านี้ เพื่อการเปิดการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุด ภายใต้มาตรการความปลอดภัยสูงสุดควบคู่กันไป


หากรัฐยังไม่ยืดเหยียดความช่วยเหลือมาให้ถึงและทันกับความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว ธุรกิจการบินของไทย ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะต้องทยอยล้มตาย และลากพาเอาธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหลาย หยุดนิ่งสนิทแบบไม่มีวันกลับมาเทคออฟได้อีกก็เป็นได้....

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง