รีเซต

เจรจาภาษีสหรัฐยังไม่จบ ไทยเร่งรับมือ–อัดซอฟท์โลนอุ้ม SME

เจรจาภาษีสหรัฐยังไม่จบ ไทยเร่งรับมือ–อัดซอฟท์โลนอุ้ม SME
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2568 ( 13:58 )
19

พิชัยชี้ยังไม่จบง่าย เน้นผลประโยชน์ชาติ–เร่งดึงลงทุน–อุ้ม SMEs

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการหารืออย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ แม้เส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม 2568 จะใกล้เข้ามา แต่ผลการเจรจายังไม่สิ้นสุด และหลายประเทศที่เข้าสู่โต๊ะเจรจาแล้วก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้เช่นกัน

พิชัยย้ำว่า การดำเนินการของฝ่ายไทยไม่ใช่การล่าช้า แต่เป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยใช้บทเรียนจากประเทศอื่นที่เจรจาก่อนเป็นแนวทางวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจสิ่งที่สหรัฐต้องการ โดยเฉพาะประเด็น “ความสมดุลทางการค้า” ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักที่ไทยต้องนำมาประกอบการจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ไทยได้ยื่นข้อเสนอใหม่ภายใต้กรอบข้อตกลง Preferential Trade Agreement (PTA) โดยขยายการเปิดตลาดสินค้าอเมริกันในไทยจาก 63–64% เป็น 69% รวมถึงการเปิดภาษี 0% สำหรับสินค้าที่ไม่เคยเปิดตลาดมาก่อน เช่น ปลานิล ลำไย และรถยนต์พวงมาลัยซ้าย แม้ว่าสินค้าเหล่านี้จะไม่ใช่สินค้าหลักของสหรัฐ แต่ถือเป็นการส่งสัญญาณในเชิงบวก

อีกประเด็นที่ไทยจับตาอย่างใกล้ชิดคือ การเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาสัดส่วนถิ่นกำเนิดสินค้า (Local Content) จากเดิมที่ต้องมีสัดส่วน 40% อาจถูกยกระดับเป็น 60–80% ในอนาคต ซึ่งพิชัยระบุว่า ไทยจำเป็นต้องนิยาม “Local Content” ใหม่ เพื่อให้รวมถึงต้นทุนจากประเทศพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 5–10 ปี ในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม

สำหรับมาตรการรองรับผลกระทบจากภาษีและการเปลี่ยนแปลงในระบบการค้าโลก รัฐบาลเตรียมเร่งดึงการลงทุนใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พร้อมเตรียมงบประมาณกว่า 115,000 ล้านบาท สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานระยะสั้น ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่แผนระยะกลางและยาว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเตรียมมาตรการเฉพาะกลุ่ม โดยอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยอาจครอบคลุมทั้งการปรับโครงสร้างภาษีและการเสนอร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ในบางประเด็น

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินเบื้องต้น พิชัยเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เตรียมวงเงินซอฟท์โลน 200,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย ในการเสริมสภาพคล่อง และปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน

สำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างการประเมินความต้องการ โดยหากมีวงเงินหรือตัวช่วยที่เกินขอบเขตของธนาคารพาณิชย์ ก็จะเสนอให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทเสริมเพิ่มเติมในภายหลัง

พิชัยย้ำในช่วงท้ายว่า การเจรจานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ “ยาหวาน” แต่เป็น “ยาขม” ที่ทุกประเทศต้องกลืน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าใจในความท้าทายของสถานการณ์ และร่วมกันยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักในการตัดสินใจ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง