รีเซต

ซิโนแวค-ไฟเซอร์-โมเดอร์นา ไทม์ไลน์วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไหนจะเข้าไทยบ้างในปีนี้

ซิโนแวค-ไฟเซอร์-โมเดอร์นา ไทม์ไลน์วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไหนจะเข้าไทยบ้างในปีนี้
Ingonn
7 กรกฎาคม 2564 ( 12:33 )
430

 

ประเทศไทยขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิดหรือไม่? อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยและคำตอบไม่มีชัดเจน แต่ยังคงมีข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อ-จัดส่งวัคซีนอยู่เสมอ วันนี้ TrueID จึงจะพามาตรวจสอบการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ว่ามีวัคซีนอะไรบ้างที่พร้อมเข้าไทยในปีนี้ และคาดว่าคนไทยจะได้ฉีดเมื่อไหร่บ้าง 

 

 

 

วัคซีนที่ขึ้นทะเบียน อย.ไทยแล้ว


ปัจจุบัน อย. อนุมัติขึ้นทะเบียน ‘วัคซีนโควิด-19’ จำนวน 5 บริษัท ได้แก่

 

1. วัคซีน ‘AstraZeneca’ โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 64

 


2. วัคซีน ‘Sinovac’ ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64

 


3.วัคซีน 'Johnson & Johnson' โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64

 


4.วัคซีน ‘Moderna’ หรือ โมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 64

 


5. วัคซีน ‘Sinopharm’  โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 64

 


6. วัคซีน 'COMIRNATY' ซึ่งเป็นวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64

 

 

 

วัคซีนที่อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียน


ส่วนวัคซีนที่อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ได้แก่

 

1. วัคซีน ‘Covaxin’ โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด 

 


2. วัคซีน ‘Sputnik V’ โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด

 

 


นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า การวางแผนจัดหาและการได้มาซึ่งจำนวนวัคซีน พร้อมเตรียมการจัดหาแล้ว ควบคู่กับการขยายกำลังการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งกำลังการฉีดของไทยอยู่ที่ราว 10 ล้านโดสต่อเดือน และพยายามจัดหาทุกแหล่งมาใช้ในระยะเร่งด่วน

 

 


วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนหลักของประเทศ เข้าไทยเมื่อไหร่


วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโดสในปี 2564 แต่ในสัญญาไม่ได้ระบุ การส่งมอบเดือนละเท่าไหร่ เมื่อวิเคราะห์กำลังการผลิตของแอสตร้าฯ โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านโดสต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้าน และแบ่งส่วนหนึ่งให้กับต่างประเทศ ทำให้ไทยสามารถได้รับวัคซีนเพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดส ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นเข้ามาเสริม

 


ล่าสุด (วันที่ 6 ก.ค. 64) สภาเภสัชกรรม เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการระบาดและการตายจากโรคโควิด-19 โดยเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซนเนก้า สยามไบโอไซส์ ลดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้เหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ

 

 

แต่ทาง นพ.นคร มองว่า การจะใช้กฎหมายห้ามส่งออกแล้วเอาวัคซีนที่ผลิตได้ทั้งหมดมาใช้ในประเทศ สามาถทำได้แต่จะมีผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่เป็นคู่ค้าของแอสตร้าฯ ที่มีสัญญาต้องได้รับจากแหล่งผลิตในประเทศไทย ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศสถาบันฯ และกรมควบคุมโรค จึงนำเข้าวัคซีนอื่นเข้ามาเสริม เช่น วัคซีนซิโนแวค

 

 

 

วัคซีนซิโนแวคเข้าไทยเมื่อไหร่


ครม. เห็นชอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม 10.9 ล้านโดส ของซิโนแวค ในกรอบวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท เป็นงบประมาณจากวงเงินกู้ จัดซื้อโดยกรมควบคุมโรค แบ่งเป็น เดือนกรกฎาคม วงเงิน 3,894.8 ล้านบาท เดือนสิงหาคม วงเงิน 2,169.96 ล้านบาท รวมค่าบริการจัดการวัคซีนและส่วนที่เกี่ยวข้อง 46.6520 ล้านบาท  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน ตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2565  

 

 

นอกจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจะมอบวัคซีนฯ ให้แก่รัฐบาลไทยจำนวน 1,050,000 โดส เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสั่งห้ามให้หน่วยงาน รัฐบาลอื่น โดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นการล่วงหน้า และจะถูกขนส่งทางอากาศ และคาดว่าจะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 9 ก.ค.นี้

 

 


วัคซีนไฟเซอร์เข้าไทยเมื่อไหร่


ครม. อนุมัติลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส เพื่อนำเข้าประเทศไทย ภายในไตรมาส 4 หรือ ภายในเดือน ตุลาคม 2564 ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์คือวัคซีนหลัก ที่รัฐจะจัดหามาให้ประชาชนฉีดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมอบอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ลงนามในสัญญาพร้อมรับข้อสังเกตของอัยการสูงสุดไปดำเนินการในการเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ในเบื้องต้น ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในสัญญาได้เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ทางกรมควบคุมโรคจะต้องเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง 

 


ขณะที่สหรัฐประกาศบริจาควัคซีนโควิด-19 จำนวน 1.5 ล้านโดสให้ไทย ตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่า สหรัฐได้จัดสรรวัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ จำนวน 80 ล้านโดส เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลนวัคซีนทั่วโลก และในจำนวนนั้น จะให้วัคซีนมากกว่า 23 ล้านโดส กับประเทศในเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยทางอเมริการะบุว่า ควรฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะถือเป็นด่านหน้าที่มีความเสี่ยง แต่เมื่อบริจาคให้แล้วขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยว่าจะจัดสรรให้กลุ่มไหนก่อน ล่าสุดคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติ ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กลุ่ม mRNA หรือไฟเซอร์ ให้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนคน เป็นกลุ่มแรกก่อน

 

 

 

วัคซีนโมเดอร์นาเข้าไทยเมื่อไหร่


วัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เอกชนเอง ซึ่ง ครม. มีมติให้องค์การเภสัชกรรม (GPO) เป็นผู้ลงนามในสัญญาพร้อมรับข้อสังเกตจากอัยการสูงสุดเพื่อไปดำเนินการให้เหมาะสมในสัญญา

 

 

โดยสาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากเป็นการจัดซื้อด้วยงบของเอกชน ไม่ใช่งบประมาณภาครัฐ จึงต้องรอเอกชนรวบรวมยอด ซึ่ง อภ.ประสานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาตลอด พบว่ามีความต้องการกว่า 9 ล้านโดส แต่จากการเจรจาบริษัทระบุว่า ส่งให้ได้ไตรมาส 4 ปี 2564 ประมาณ 4 ล้านโดส และไตรมาส 1 ปี 2565 ประมาณ 1 ล้านโดส ถือว่าเร็วขึ้น จึงต้องรวบรวมยอดและเงินมาให้ อภ.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ถึงไปเซ็นสัญญาได้ ซึ่งวางไว้ที่ต้นเดือนสิงหาคม

 

 

ราคากลางค่าบริการวัคซีนทางเลือก วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ที่จะจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขายโดสละ 1,100 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคล

 

 


วัคซีนซิโนฟาร์มเข้าไทยมาแล้ว 


เมื่อวันที่ 20-21 มิ.ย. 64 วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกถึงไทยแล้ว ประมาณ 1 ล้านโดส และวันที่ 4 ก.ค. 64 ถึงไทยอีก 1 ล้านโดส โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ แต่ให้หน่วยงานที่ซื้อวัคซีนไปเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ รวมถึงค่าฉีดด้วย โดยในจำนวน 1 ล้านโดสระยะแรก จะเก็บไว้ 3-4 พันโดสเพื่อตรวจและดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่

 

 

ส่วนแผนระยะต่อไปในการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม คือช่วง 2-3 เดือนนี้ที่วัคซีนหลักมาไม่มาก จำนำเข้าซิโนฟาร์มมาอีกประมาณ 5 -6 ล้านโดส ทยอยมาทุก 10 วัน ขณะเดียวกัน ราชวิทยาลัยฯ ยังพิจารณาไปถึงการศึกษาวัคซีนที่จะฉีดกระตุ้นภูมิเข็ม 3 ด้วยในปลายปีหรือต้นปีหน้า

 

 

ล่าสุดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แจ้งว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเชิญโรงพยาบาลที่ได้รับการคัดเลือกรอบแรก (เฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล) เข้าร่วมประชุมวางแผนหารือกับ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เกี่ยวกับการจัดทำระบบการให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” สำหรับรอบประชาชนทั่วไป ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564

 

 


วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หายไปไหน


รัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจานำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งเบื้องต้นการเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี โดยจะนำเข้ามาประมาณ 5-10 ล้านโดส ซึ่งสาเหตุที่นำเข้ามาจำนวนเท่านี้ เพราะวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ฉีดแค่เข็มเดียว ไม่เหมือนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า

 

 

แต่ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  ให้สัมภาษณ์ว่า วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่เตรียมลงนามสัญญาเทอมชีท (Term sheet) ไม่สามารถติดต่อกับบริษัท แจนเซ่น ซีแลค จำกัด ได้ คาดว่าทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอาจเกิดปัญหา ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติก็มีข้อมูลในเรื่องนี้เช่นกัน

 

 

 


ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , Hfocus , มติชน , ข่าวสด , TNN

 

 

 

-------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง