รีเซต

แอสตร้าฯ ยันส่งวัคซีนให้ไทย 6 ล้านโดส/เดือน สธ.จ่อหาแหล่งอื่นเพิ่ม

แอสตร้าฯ ยันส่งวัคซีนให้ไทย 6 ล้านโดส/เดือน สธ.จ่อหาแหล่งอื่นเพิ่ม
มติชน
2 กรกฎาคม 2564 ( 15:42 )
56
 

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2564) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของประเทศไทย ในระหว่างการเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” ว่า เรื่องการจัดหาวัคซีนมีอยู่ 2 ส่วน คือ การวางแผนจัดหา และการได้มาซึ่งจำนวนวัคซีนจริง โดยได้เตรียมแผนการจัดหาควบคู่กับการขยายกำลังการฉีดวัคซีน ซึ่งกำลังการฉีดได้ขยายแล้วอยู่ที่ราว 10 ล้านโดส จึงพยายามจัดหาวัคซีนจากทุกแหล่งมาใช้ในระยะเร่งด่วน ซึ่งก็คือ วัคซีนซิโนแวค ที่เข้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน จำนวน 9.5 ล้านโดส รวมทั้งที่รัฐบาลจีนบริจาคให้ด้วย

 

 

“ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของไทย มีการทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโดส ภายในปี 2564 แต่ไม่ได้ระบุในสัญญาว่าต้องส่งเดือนละเท่าไร ซึ่งเมื่อดูกำลังการผลิตของแอสตร้าฯ โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านโดสต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านโดส ต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้กับต่างประเทศด้วย ซึ่งได้พยายามขอให้จัดส่งให้ไทยเดือนละ 10 ล้านโดส แต่ได้รับจดหมายจากรองประธานบริษัท แอสตร้าฯ แจ้งว่า จะส่งมอบให้ไทยได้ 5-6 ล้านโดส ทั้งนี้ ถ้าจะใช้มาตรการห้ามส่งออกก็ได้แต่จะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแผน และความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยเดือนละ 10 ล้านโดส จึงต้องหากวัคซีนจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริม ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เจรจรากับบริษัทซิโนแวคเข้ามาใช้ในกรกฎาคม-สิงหาคมนี้” นพ.นคร กล่าว

 

 

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการจัดหาวัคซีนชนิด mRNA ที่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ว่า พยายามจัดหาอยู่ โดยเจรจากับบริษัท ไฟเซอร์ มีการทำสัญญาจองแล้ว 20 ล้านโดส เดิมจะส่งมอบไตรมาส 3 ก็เลื่อนเป็นไตรมาส 4 ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ขณะนี้กำลังต่อรอง และขอให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูต หรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา เป็นซับยูนิตโปรตีน ตัวแรกที่ออกมามีประสิทธิภาพป้องกันโรคร้อยละ 92

 

 

 

“น่าสนใจ เพราะเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นๆ ด้วย เช่น วัคซีนเคียวแวค ของเยอรมนี ซึ่งมีการเจรจาข้อมูลเชิงลึกกันอยู่ และดูว่าเขาจะพัฒนาต่อหรือไม่ ถือเป็นวัคซีนที่น่าสนใจไม่แพ้ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และในปีหน้าจะจัดหาวัคซีนตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น” นพ.นคร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ไตรมาส 3 จะมีวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามาหรือไม่นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เท่าที่สืบค้นยังมีแค่วัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน ทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ทั้งนี้ หากมองวัตถุประสงค์ในการใช้วัคซีนให้เต็มประโยชน์ที่มีในช่วงเวลานี้ ที่มีวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าฯ ยังสามารถป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้สูง แม้เจอเชื้อกลายพันธุ์ ส่วนข้อมูลที่มีนักวิชาการเอาเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไปทำปฏิกิริยากับไวรัสในหลอดทดลอง ก็เป็นตัวทำนายผลการป้องกันโรคทั่วไป ยอมรับว่าได้ผลลดลง แต่ไม่ใช่แค่ตัวใดตัวหนึ่ง เพราะลดลงทุกตัว

 

 

 

นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนเรื่องการป้องกันการป่วยหนัก และการเสียชีวิตนั้น เป็นเรื่องของการเอามาใช้จริงถึงจะเห็นผล ซึ่งมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่อังกฤษ มีการฉีดวัคซีนทั้งแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 50 ทำให้อัตราป่วยลด 5-6 พันราย แต่เมื่อเจอการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ก็พบว่าตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2 หมื่นราย แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น

 

 

 

“แสดงว่า วัคซีนยังมีประสิทธิภาพดีในเรื่องการป้องกันการเสียชีวิต และลดภาระระบบบริการทางการแพทย์ นึกภาพดูว่า ถ้าเรามีผู้ป่วยในมือจำนวนมาก การดูแลให้ทั่วถึงก็น้อยลง ก็มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้น หากผู้ป่วยหนักลดลง ผู้เสียชีวิตก็จะลดลงด้วย ผมจึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียงในการยึดเป้าหมายที่สำคัญคือ การลดการป่วยหนัก และการเสียชีวิต เราต้องฉีดวัคซีนให้ตรงกลุ่มคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคร่วม” นพ.นคร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง