สำรวจผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ที่ไม่ใช่ใครก็ได้ฉีด
วัคซีน “ซิโนฟาร์ม” เป็น "วัคซีนตัวเลือก" ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนไทย และยังเป็นวัคซีนสัญชาติจีนตัวที่ 2 ที่ WHO และไทยอนุมัติให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
วันนี้ TrueID จึงจะพามาสำรวจผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ว่าหลังฉีดมีอาการอะไรที่น่ากลัวหรือต้องกังวลหรือไม่
รู้จักวัคซีนซิโนฟาร์ม
ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หรือ BBIBP-CorV ผลิตโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ประเทศจีน มีชื่อทางการค้า คือ COVILO เป็นวัคซีนชนิดเนื้อตาย (Inactived) เช่นเดียวกับซิโนแวค คือ ใช้ไวรัสที่ตายแล้วมาพัฒนา ฉีดเข้าไปในร่างกาย ให้ระบบภูมิคุ้มกันได้สัมผัสกับไวรัสโดยไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง เก็บรักษาง่าย สามารถอยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ เหมาะสำหรับประเทศที่ไม่มีอุปกรณ์พิเศษ หรือรถแช่เย็นอุณหภูมิต่ำมากๆ โดยต้องฉีด 2 ครั้ง ระยะห่างหลังจากที่ฉีดเข็มแรกประมาณ 3-4 สัปดาห์ และวัคซีนของซิโนฟาร์มนั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุในการฉีด โดยผู้ที่มีวัย 18 ปีขึ้นไปทุกคนสามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้
ปัจจุบันใช้ไปแล้วกว่า 57 ประเทศทั่วโลก หรือมากกว่า 65 ล้านโดส ถูกใช้งานมากเป็นอันดับ 4 รองจากไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา ซึ่งจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
วัคซีนซิโนฟาร์มไม่ได้ฉีดได้ทุกคน
วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนตัวเลือกที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้แทนในการจัดซื้อในนามรัฐ กับทางผู้ผลิต และนำเข้ามา โดยมีข้อกำหนดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยวัคซีนที่ทางองค์กร หรือหน่วยงานตามข้อกำหนด ศบค. เมื่อได้รับการจัดสรรจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ต้องนำไปฉีดให้แก่บุคลากรหรือกลุ่มคนภายใต้หน่วยงาน หรือองค์กร โดยห้ามนำไปจำหน่ายหรือคิดมูลค่าใดๆ และไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปทำการจองฉีดวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม”
นอกจากนั้นยังมีประกันกรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่ง สปสช. จะจ่ายเงินเยียวยาให้เฉพาะผู้ฉีดวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนตัวเลือกเท่า แต่ไม่รับผิดชอบกรณีผู้รับวัคซีนทางเลือก
ปัจจุบันมีองค์กร/บริษัทที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยการพิจารณาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 2 ครั้ง รวม 6,437 บริษัท เพื่อฉีดให้แก่ประชาชน 779,300 คน โดยเน้นภาคธุรกิจที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศและพื้นที่ความเสี่ยงก่อน
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยื่นคำขอเข้ามา ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกแต่อย่างใด เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของทางราชวิทยาลัย
ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม
1.ปวด บวม และมีรอยแดง บริเวณที่ฉีด
2.อ่อนเพลีย
3.ปวดศีรษะ
4.ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
5.มีไข้ และอาการหนาวสั่น
6.คลื่นไส้
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หลังได้รับการฉีดวัคซีน และควรหายภายในระยะเวลาไม่กี่วันอย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก เคยรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง 2 เหตุการณ์ที่อาจเชื่อมโยงกับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ได้แก่ อาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง และความผิดปกติที่ระบบประสาท หรือโรคไข้สมองอักเสบเฉียบพลัน
องค์การอนามัยโลก ยังพิจารณาข้อมูลจากจีน พบว่า ในบรรดาประชากรจีน 5.9 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนฟาร์ม ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2563 มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 1,453 ราย แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่
ข้อควรระวัง
ผู้ที่มีวัย 18 ปีขึ้นไปทุกคนสามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้ แต่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การทดสอบวัคซีนซิโนฟาร์มในระยะต่าง ๆ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อศึกษาผลที่จะเกิดขึ้นกับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของซิโนฟาร์มต่อกลุ่มผู้สูงอายุ และทางองค์การองค์การอนามัยโลกเองมี ความเชื่อมั่นในระดับต่ำ ต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนซิโนฟาร์มในกรณีนี้
วัคซีนซิโนฟาร์มป้องกันโควิด-19 กลายพันธุ์ไหม ?
จากการวิจัยของสถาบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพปักกิ่งสถาบันในเครือซิโนฟาร์ม ร่วมกับสถาบันจุลชีววิทยาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์จีน พบว่าวัคซีนซิโนฟาร์ม ทำให้โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ประสิทธิภาพลดลงเฉลี่ย 1.6 เท่า ซึ่งน้อยกว่าวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งลดความร้ายแรงของ โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ถึง 6 เท่า ส่วนสายพันธุ์อังกฤษ บราซิล หรืออินเดีย ยังไม่พบผลการศึกษา
อย่างไรก็ตามวัคซีนซิโนฟาร์ม ยังเป็นวัคซีนที่มีข้อมูลหลังฉีดให้กับคนทั่วโลกน้อย เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่น และยังไม่มีข้อมูลผลของการฉีดวัคซีนแบบผสมกับวัคซีนอื่นๆ เช่นเดียวกัน
ข้อมูลจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , Hfocus , รพ.วิชัยเวชฯ
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง