รีเซต

จับตา! “ล็อกดาวน์” หรือไม่ หากไม่ล็อกดาวน์จะเกิดอะไรขึ้น?

จับตา! “ล็อกดาวน์” หรือไม่ หากไม่ล็อกดาวน์จะเกิดอะไรขึ้น?
Ingonn
8 กรกฎาคม 2564 ( 14:52 )
242
จับตา! “ล็อกดาวน์” หรือไม่ หากไม่ล็อกดาวน์จะเกิดอะไรขึ้น?

ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อสูงเฉียดหมื่นราย สอดคล้องกับที่ ศบค. ระบุว่าจะพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นรายในสัปดาห์หน้า เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ระบาดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ กทม. ไปแล้วภายในครึ่งเดือนแรก และไม่ถึง 3 เดือนจะปกคลุมทั่วทั้งประเทศ ทำให้เกิดเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนให้เริ่ม "ล็อกดาวน์" คุมโควิด

 

 

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 (EOC) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศบค. และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่ กทม. เห็นตรงกันที่ สธ. จะเสนอ ศบค. ในการยกระดับมาตรการ ได้แก่ จำกัดการเดินทาง อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ออกจากเคหสถาน เว้นไปหาอาหาร พบแพทย์ และฉีดวัคซีน  ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมด ที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยใช้ในพื้นที่เสี่ยงและกันชน เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

 

 


ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมพูดคุยมาตรการสังคม ซึ่ง สธ.นำเสนอปรับมาตรการต่างๆ ทั้งสาธารณสุขและสังคม เสนอ ศบค.ชุดเล็กเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หลักๆ จะจำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยห้ามเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัด ในที่ประชุมได้หารือในส่วนกระทรวงมหาดไทย กลาโหม สปม. จะจัดตั้งจุดตรวจลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ และปรับมาตรการ WFH รัฐและเอกชนสูงสุด และขอให้อยู่บ้านมากขึ้น ลดความเสี่ยงติดเชื้อ สถานที่ที่มีการพูดถึงมีห้างสรรพสินค้า รวมกิจการประเภทเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ข้ามต้มรอบดึก จะมีการหารือการกำหนดเวลาปิดกิจการ รวมถึงขนส่งสาธารณะ เมื่อลดการเคลื่อนย้ายบุคคล ก็ต้องปรับเวลาขนส่งสาธารณะให้สอดคล้องกับมาตรการที่ สธ.เสนอ

 

 

ซึ่งการลดเวลาต่างๆ การปรับมาตรการก็ต้องคำนึงถึงความจำเป็น อย่างสาธารณูปโภค อาหาร ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต อาจต้องเปิด หรือแม้กระทั่งร้านขายเครื่องมืออุปกรณ์ช่าง นี่เป็นเพียงมาตรการที่ สธ.นำเสนอศบค.ชุดเล็กในวันนี้ และต้องเสนอศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 9 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. โดยต้องรอการประชุมก่อน

 

 

ส่วนล็อกดาวน์ 14 วันหรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ไม่มีคำว่า ล็อกดาวน์ แต่เป็นข้อเสนอปรับมาตรการ มีรายละเอียดกิจกรรม กิจการใด ระยะเวลาอย่างไร แต่ยังไม่ได้สรุปเป็นข้อสรุป ต้องนำเสนอที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่พิจารณาและอนุมัติวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) ก่อน

 

 

 


ทำไมยังไม่ล็อกดาวน์ ?

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เคยระบุเหตุผลในการไม่ล็อกดาวน์โควิดระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาว่า "จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การประกาศเคอร์ฟิวหรือล็อกดาวน์ กลายเป็นบังคับใช้กับคนดี ขณะที่การบังคับใช้กฏหมาย 100 % หรือยาแรง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากมาย ครั้งนี้ เจ็บที่ไหนใช้ยาที่นั้น สำคัญคือ ตัวเรา ที่จะต่อสู้กับศึกโควิดรอบใหม่"

 

 

 

 


ไม่ล็อกดาวน์จะเกิดอะไรขึ้น


นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อาจารย์แพทย์สาขาอายุรกรรมโรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่ล็อกดาวน์ โดยสรุปได้ดังนี้

 

 

1.ผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อในครอบครัว


ผู้ป่วยรายใหม่เริ่มเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กมากขึ้น บางรายอาจเป็นผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในครอบครัว ที่มาจากการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว การกลับไปดูแลผู้สูงอายุ

 

 

2.ปรากฎการณ์คอขวด ระบายผู้ติดเชื้อโควิดไม่ทัน


จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อโควิดรายเก่าไม่ขยับออก แต่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต้องเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลด้วยเช่นกัน คนไข้บางส่วนที่เริ่มเหนื่อย และได้รับการแอดมิดช้า ทำให้คนไข้อาการหนักมาตั้งแต่แรกรับ และต้องเข้า intermediate ไอซียู มากกว่าเดิม เปิดเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่พอ และยังมีผู้ป่วยรอเตียงรักษาอยู่ที่บ้านมากถึง 40-50% 

 

 

3.โรงพยาบาลต่างๆเกิดปรากฏการณ์ “ป้อมแตก” 


มีคนไข้บวกใน ward ที่เป็น ward สามัญ หรือมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อมาจากบ้านโดยไม่ได้ตั้งใจ (อาจจะเพราะไปได้มาจากลูกหลาน, บางส่วนได้มาเพราะยังไปสถานที่ชุมนุมชนเช่น fitness เป็นต้น) มีเพื่อน คนรู้จัก หรือแพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์หลายคนที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะติดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ หลายๆคนใช้ชีวิตปลอดภัยมาก แต่พลาดเพราะไม่รู้ว่าคนที่เราอยู่ใกล้ๆ นำพาเชื้อมา เป็นช่วงที่เริ่มได้สัญญาณว่า ให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ด้วยความจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นจนทำให้เรากลัวเหลือเกินว่าจะมียาเหลือพอหรือไม่

 


4.เกิดวงจรที่ไม่ควรเกิด


=> เตียงไม่พอ => admit ไม่ได้ => รออยู่บ้าน => อาการหนักเพราะ delay ยา=> ต้องใช้ยาเยอะกว่าเดิมและใช้ ICU => กินเตียงนาน => เตียงเต็มเตียงไม่พอ วนไปเป็นนิรันดร์


นอกจากนี้ เมื่อโรงพยาบาลทุกๆ ที่เกินศักยภาพ มีการประสานส่วนกลางเพื่อกระจายเคสหนักเข้า ICU ในแต่ละ รพ.ที่มีศักยภาพ เตียงก็จะเต็ม

 


5.เจ้าหน้าที่ทำงานหนัก 200% 


ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรอื่นๆ นอกโรงพยาบาล บางโรงพยาบาลไม่สามารถรับเคสได้อีกเพราะเตียงล้น บางโรงพยาบาลบุคลากรทางการแพทย์หายไปเพราะถูกกักตัว หรือ ติดเชื้อไปบางส่วน

 


6.มีผู้เสียชีวิตรายวันเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ช้าๆ

 


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงการล็อกดาวน์ที่ต้องเฝ้าระวังว่า

 

“ล็อกดาวน์ครั้งนี้อาจเลวร้ายกว่ารอบก่อน การล็อกดาวน์ที่ถ้าจะเกิดขึ้นเก็บประชาชนไว้ในบ้าน ออกมาซื้ออาหารเท่าที่จำเป็น

 

ผล. ประชาชนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ แน่นอนมีมากพอสมควรแล้วในทุกพื้นที่ เมื่อล็อคดาวน์ในบ้านแต่ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ จะด้วยไม่ทราบหรือมีข้อจำกัดก็จะแพร่ต่อในบ้านเช่นอยู่ด้วยกัน 10 คนถ้ามีหนึ่งคนที่ติดเชื้อแพร่เชื้อได้โดยไม่มีอาการจะปล่อยให้ติดเชื้อทั้งหมดในช่วงเวลาล็อคดาวน์นั้นและถ้าทุกคนไม่มีอาการเมื่อปลดล็อคก็จะออกมาแพร่ต่ออีก

 

ล็อคปีที่แล้ว ที่ได้ผล เพราะความหนาแน่นของคนติดเชื้อไม่น่าจะเขัมขันเช่นในปัจจุบัน ซึ่งปรากฎในชุมชนแออัด เรือนจำ และในชุมชนทั่วไป รวมทั้งคนเดินไปเดินมา

 

ล็อค ถ้าจะทำ “ต้อง” ตรวจทุกคน ให้แน่ใจ ก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็น บับเบิ้ล เอาคนติดเชื้อเข้าไปรวมกับคนอื่นในบ้าน ในชุมชนแออัดและซีล ต่อ จนติดหมด และปล่อยออกมาใหม่”

 

 


ข้อมูลจาก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha , Suppachok NeungPeu Kirdlarp , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , hfocus

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง