รีเซต

ปัจจัยสำคัญ ทำไมไทยต้อง “ล็อกดาวน์” หลังสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาด

ปัจจัยสำคัญ ทำไมไทยต้อง “ล็อกดาวน์” หลังสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาด
TrueID
8 กรกฎาคม 2564 ( 09:43 )
168
ปัจจัยสำคัญ ทำไมไทยต้อง “ล็อกดาวน์” หลังสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาด

จากสถานการณ์โควิด-19ล่าสุด ในประเทศไทยยังอยู่ขั้นวิกฤติ กระทั่งประเด็น “ล็อกดาวน์” ถูกหยิบมาถกอย่างจริงจัง ล่าสุด ศบค. เอง โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ค.64  พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. ก็ออกมายอมรับถึงกระแสข่าวและความเป็นไปได้ โดยอาจเป็นได้ทั้งการ “ล็อกดาวน์เฉพาะจุด” คือ ใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรืออาจจะ “ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ” ก็สามารถเกิดขึ้นได้เพื่อให้ควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพียงแต่ความเข้มของมาตรการ อาจลดหลั่นกันลงไปตามความจำเป็นแต่ละพื้นที่ วันนี้ trueID จะเปิดสาเหตุทำไมเราต้องมีการ "ล็อกดาวน์"

 

“คำว่า ‘ล็อก’ คือไม่ให้ไปไหน ครั้งหลังๆ มาเราก็สามารถให้ไปไหน มาไหนได้ แต่เมื่อไหร่ที่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์จริงๆ ล็อกดาวน์บางห้วงเวลา หรือล็อกดาวน์บางพื้นที่ ต้องชัดเจน ซึ่งล็อกดาวน์จริงๆ นิยามของ ศบค. คือ เม.ย.2563 แต่ถ้าหลังจากนั้น เป็นการลดลงไม่เต็มรูปแบบ” 

 

 

ปัจจัยสำคัญ ทำไมไทยต้อง “ล็อกดาวน์” 

 

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์แล้ว สิ่งที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจว่าเราต้องล็อกดาวน์หรือไม่ หรืออย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้สามารถแบ่งประเด็นหลักๆ ได้แก่

 

1. จำนวนการฉีดวัคซีนต่ำ โดยจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “เข็มแรก” แค่ 16.5% ของเป้าหมาย 50 ล้านราย ซึ่งเป็นเกณฑ์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือถ้านับรวมประชากรทั้งประเทศ 70 ล้านคน มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเพียง 11.77% เท่านั้น (ข้อมูลจากศบค. ณ วันที่ 7 ก.ค.64) เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านไทยอย่างประเทศลาวมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกแตะล้านคนแล้ว

 

 

2. ความร้ายแรงของโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ซึ่งปัจจุบันกำลังยึดไทย เป็นเชื้อที่ติดง่ายมาก และอาการรุนแรง โดยทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น 

ขณะที่สายพันธุ์ “อัลฟ่า” (อังกฤษ) เดิมใช้เวลา 7-10 วันถึงกลายเป็นปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจน ไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจ แต่สายพันธุ์ “เดลต้า” (อินเดีย) ใช้เวลา 3-5 วัน นำมาสู่ความวิกฤติเรื่องเตียงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยหนัก ICU ซึ่งถือว่า “วิกฤติ” มากและส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในภาพรวม

 

 

3. จำนวนผู้ติดเชื้ออาจพุ่งถึงระดับหมื่นคนต่อวัน ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน จะพบว่า มีแนวโน้มพุ่งสูง ทำนิวไฮต่อเนื่อง โดยผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 8 ก.ค.64 สูงถึง 7,058 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุด 75 ราย

ในแง่ของการระบาด ระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์ประจำวันที่ 7 ก.ค. ได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์การระบาดในวันที่ไทยกำลังรับมือกับโควิด "สายพันธุ์เดลต้า" ว่า จะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์ และมีโอกาสขึ้นไปถึง 10,000 รายต่อวันในสัปดาห์หน้า

 

4. ติดเชื้อในสำนักงานมากขึ้น ปัจจุบัน แหล่งสำคัญของการติดเชื้อที่ต้องจับตา คือ พบว่า มีการติดเชื้อจากที่ทำงานหรือองค์กรมากถึง 40%

 

5. ปริมาณเตียงมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ความร้ายของสายพันธุ์เดลต้า คือ นอกจากจะแพร่เชื้อง่ายแล้ว ยังเสี่ยงที่จะ “อาการหนัก” มากกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบัน (7 ก.ค.) มีผู้ป่วยอาการหนักทั้งสิ้น 2,496 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย 

ซึ่ง พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เผยว่า ในจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก 10 ราย เกือบครึ่งหนึ่งหรือราว 4-5 รายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และในจำนวนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจทุก 10 ราย จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 คน

และเมื่อมาดูที่สถานการณ์ของ “ผู้ป่วยสีแดง” รอเตียง ใน กทม.มีมากถึงราว 40-50 รายต่อวัน สีเหลือง 200-300 รายต่อวัน โดยตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์ พบว่า แต่ละวันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งระดับ เขียว เหลือง แดง เข้ามาสูงขึ้นหลักพัน ขณะที่ การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเจ้าภาพหลัก คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณ ก็มีศักยภาพในการขนผู้ป่วยที่ประมาณ 500 เที่ยวต่อวันเท่านั้น

*โดยข้อมูลล่าสุดข้อมูลของจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม ที่ผ่านมา ไทยอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลกแล้ว

 

 

6. เชื้อถูกส่งออกจากคนกทม.  ปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังพอมีศักยภาพรองรับได้ นอกจากนี้ แม้จะมีคำสั่งให้งดเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่เนื่องจากไม่ได้ห้ามเด็ดขาด จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของประชากร ที่อาจเสี่ยงต่อการนำเชื้อไปแพร่ต่อได้

 

ประเด็นหลักข้างต้น คือ ปัจจัยสำคัญที่ ศบค. จะนำมาประเมินการล็อกดาวน์ โดยคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 12 ก.ค.64

 

ข้อมูล : ศบค. , กรุงเทพธุรกิจ , worldometers

รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง