รีเซต

แพทย์แนะ 'ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ' ทางสุดท้ายตัดตอนโควิดแพร่ระบาด

แพทย์แนะ 'ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ' ทางสุดท้ายตัดตอนโควิดแพร่ระบาด
TNN ช่อง16
8 กรกฎาคม 2564 ( 11:38 )
72

วันนี้ (8ก.ค.64) ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มานพ พิทักษ์ภากร โดยระบุว่า ผ่านมา 10 วันของมาตรการสกัดการระบาด 

เชื่อว่าทุกคนคงบอกได้ว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับการระบาดของ Delta variant ที่เดินตามหลายประเทศก่อนหน้านี้ คาดว่าภายในเดือนนี้สายพันธุ์นี้น่าจะแทนที่ Alpha variant เป็นสายพันธุ์หลักของประเทศ หลังจากยึดครองกรุงเทพได้แล้วภายในครึ่งเดือนแรก

บทเรียนจากประเทศอังกฤษในช่วงการกินส่วนแบ่งตลาดของ Delta variant ในระยะแรก จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าจากฐานเดิม บ้านเราก็เดินมาถึงจุดนี้เหมือนกันคือจาก 2-3 พันคน มาเป็น 6,500 คนเมื่อวานนี้ (แม้ว่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงไม่น้อย จากข้อมูล positive rate ที่ชี้ว่าเราตรวจน้อยเกินไป) ถ้าเราดูแบบแผนการระบาดของอังกฤษจะเห็นว่าหลังจาก Delta variant ยึดครองพื้นที่ได้หมด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งสูงขึ้นอีก 3-4 เท่าถ้าไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม

ข้อมูลผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใน ICU เพิ่มมากแค่ไหน ตัวเลขที่สื่อนำเสนอคงเห็นกันอยู่ เมื่อวานเรามีผู้ป่วยหนักสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก แม้จะระดมสร้าง รพ.จริง, จัดหาเตียง, เนรมิตเครื่องช่วยหายใจ, ออกซิเจน, อุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ได้ชั่วข้ามคืน เราก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรได้มากกว่านี้อีก 

ทางเลือกอื่นในการสกัดการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการระดมสร้างภูมิคุ้มกันผ่านวัคซีน กทม และอีกหลายจังหวัดเสี่ยงมีการฉีดวัคซีนไปพอสมควร แต่ด้วยประสิทธิภาพของวัคซีน ระยะเวลาในการกระตุ้นภูมิ รวมถึงจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่ยังไม่มากพอ เราหวังผลจากมันไม่ได้

การตรวจก็มีข้อจำกัด ตัวเลขการตรวจรวมรายสัปดาห์ ฉบับล่าสุดของกรมวิทย์ยังไม่เผยแพร่ออกมา แต่ถ้าดูข้อมูล ศบค ในตาราง เราตรวจหาผู้ติดเชื้อได้ต่ำมาก กทม และปริมณทล ตรวจได้เพียงวันละ 3 พันคน และมี positive rate ที่สูงมาก ๆ จนน่าตกใจ การค้นหาผู้ป่วยและแยกโรคแทบเป็นไปไม่ได้

ในเมื่อสองทางเลือกข้างต้นทำไม่ได้ คงเหลือทางสุดท้ายในการตัดตอนการระบาด คือ full lockdown

ท่าน ผบห ศบค กล่าวไว้ว่า การทำ full lockdown แบบช่วงเมษายนปีที่ผ่านมา รัฐหมดค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถเพิ่ม capacity ในการตรวจเชื้อ, ปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังการระบาด, เพิ่มศักยภาพของระบบโรงพยาบาล, ซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง วางแผนการจัดหาและกระจายรวดเร็ว และมีปริมาณเกินพอสำหรับคนทั้งประเทศได้ และเรามีเวลาให้เตรียมการนานถึง 1 ปี

บางที ... พวกเราในฐานะประชาชน ควรใช้เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นบทเรียนว่า เราปล่อยให้สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง