รีเซต

พืชภูเขาใกล้สูญพันธุ์ โลกร้อนเร็วเกิน ปรับตัวไม่ทัน

พืชภูเขาใกล้สูญพันธุ์  โลกร้อนเร็วเกิน ปรับตัวไม่ทัน
TNN ช่อง16
6 พฤษภาคม 2568 ( 09:00 )
9

เมื่อพูดถึงพืชที่ขึ้นอยู่บนไหล่เขาสูง หลายคนอาจนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่ง ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ และอยู่รอดได้แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่ผลการศึกษาระยะยาวโดยศาสตราจารย์ Jill Anderson จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย (University of Georgia) กลับชี้ให้เห็นว่า แม้แต่พืชภูเขาก็ไม่ได้ปลอดภัยจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


การศึกษานาน ปีนี้ติดตามชีวิตของพืช Drummond’s rockcress กว่า 100,000 ต้นในเทือกเขาแถบอเมริกาเหนือ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก จนกระบวนการทางธรรมชาติของพืชไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ส่งผลให้แม้แต่พืชที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่กว้างก็ยังเผชิญกับความเสี่ยง


แม้ว่าอากาศเย็นบนภูเขาจะดูเหมือนเป็นเกราะป้องกันตามธรรมชาติ แต่ความจริงแล้วพื้นที่ภูเขาก็ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของหิมะปกคลุมที่ส่งผลต่อฤดูการเติบโตของพืช ซึ่งเดิมทีมีเวลาสั้นและเปราะบางอยู่แล้ว พืชที่อาศัยอยู่ตามระดับความสูงต่างๆ มักมีการปรับตัวเฉพาะถิ่น (local adaptation) คือ มีลักษณะพันธุกรรมที่เหมาะสมกับสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่ เช่น พืชที่อาศัยในที่สูงจะทนเย็นได้ดี ส่วนพืชในที่ต่ำจะเติบโตดีในอากาศอบอุ่น แต่เมื่้ออุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ลักษณะพันธุกรรมที่เคยได้เปรียบในแต่ละพื้นที่กลับกลายเป็นภาระ


อีกทั้งการไหลของยีน (gene flow) หรือการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างพืชที่อยู่ต่างระดับความสูงมักเกิดในทิศทางลงเขา ไม่ใช่ขึ้นเขา ทำให้พืชที่อยู่บนยอดเขาไม่สามารถรับพันธุกรรมที่ช่วยทนร้อนได้ทัน จึงเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น

พืชภูเขาจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดจำกัดและต้องการอุณหภูมิเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของสภาพอากาศก็อาจทำให้พืชต้องอพยพขึ้นเขาเพื่อความอยู่รอด แต่กระบวนการนี้ไม่ง่าย เพราะการแพร่กระจายของเมล็ดช้า อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับพืชอื่นในพื้นที่ใหม่


ในโคโลราโด นักวิจัยทดลองเปลี่ยนระดับหิมะและอุณหภูมิ เพื่อเลียนแบบสภาพภูมิอากาศในอนาคต และพบว่า พืชที่เคยปรับตัวดีในพื้นที่เดิมกลับไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้


แม้ธรรมชาติจะมีระบบแลกเปลี่ยนพันธุกรรม แต่ในกรณีนี้อาจไม่ทันการณ์ นักวิจัยเสนอแนวคิด “assisted gene flow” หรือการย้ายยีนโดยมนุษย์ เช่น นำเมล็ดพันธุ์จากพื้นที่อบอุ่นไปปลูกในที่สูง เพื่อเสริมพันธุกรรมที่ทนร้อนได้ให้แก่ประชากรพืชบนภูเขา แนวทางนี้ต้องวางแผนอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศท้องถิ่น


ศาสตราจารย์ Sally Aitken จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ระบุว่า งานวิจัยนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนว่า “ธรรมชาติอาจไม่สามารถปรับตัวทันกับโลกร้อนที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้” และแผนที่การกระจายพันธุ์ของพืชในอดีตไม่สามารถใช้ทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำอีกต่อไป

เมื่อพืชภูเขาล้ม พวกมันจะดึงสิ่งมีชีวิตอื่นลงมาด้วย ทั้งแมลงผสมเกสร สัตว์กินเมล็ด และในที่สุดคือมนุษย์ที่อาศัยน้ำจากต้นน้ำบนภูเขา หากพืชลดจำนวนลงจนส่งผลต่อความชื้นในดิน ก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการไหลของน้ำและการพังทลายของดินตามมา


จึงถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่า บางสายพันธุ์อาจต้องการ "ความช่วยเหลือ" จากมนุษย์ ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์แบบเดิมๆ เท่านั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเป็นรากฐานสำคัญ แต่สำหรับบางพื้นที่ การย้ายพืชหรือเสริมพันธุกรรมอาจเป็นความหวังสุดท้ายก่อนที่สายพันธุ์เหล่านี้จะสูญพันธุ์ไปในโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง