ยุโรปร้อนทะลุ 42 องศา! ไฟป่าลุกลาม-ผู้ป่วยลมแดดพุ่ง นักวิชาการเตือนโลกกำลังวิกฤต

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ ยุโรปตอนใต้เผชิญคลื่นความร้อนรุนแรง สะท้อนผลกระทบของโลกร้อนที่ทวีความถี่และรุนแรงขึ้น
ช่วงปลายเดือนมิ.ย.68 หลายประเทศในยุโรปตอนใต้กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนแรกของฤดูร้อน ซึ่งทวีความรุนแรงมากกว่าที่เคยพบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศสเปน อิตาลี กรีซ ฝรั่งเศส และโปรตุเกส ที่อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ เช่น เมืองเซบียาของสเปน คาดว่าอุณหภูมิจะสูงถึง 42 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีรายงานผู้เจ็บป่วยจากโรคลมแดดและเพลียแดดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเกิดไฟป่าในหลายจุด ทำให้หน่วยฉุกเฉินของหลายประเทศต้องออกมาเตือนประชาชนให้งดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลากลางวัน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในครั้งนี้ มาจากการก่อตัวของมวลอากาศเย็นจากขั้วโลกเหนือที่เคลื่อนตัวเข้าปกคลุมยุโรปตอนใต้ในระดับบรรยากาศชั้นสูง โดยมวลอากาศนี้มีลักษณะเป็นโดมหรือฝาชีที่กดทับอากาศร้อนใกล้ผิวดินไว้ไม่ให้ลอยขึ้น ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องตลอดช่วงเวลากลางวันที่ยาวนานในฤดูร้อนของยุโรป สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นล่างอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สามารถระบายออกได้ เมื่อรวมกับลมจากแอฟริกาตอนเหนือที่พัดพาอากาศร้อนแห้งเข้าสู่พื้นที่เมดิเตอร์เรเนียน จึงยิ่งเสริมให้คลื่นความร้อนครั้งนี้รุนแรงขึ้น
นอกจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้คลื่นความร้อนเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นทุกปี รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ส่งผลให้ฤดูร้อนของยุโรปและอเมริกาเหนือกลายเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความร้อนสุดขั้วที่คาดเดาได้ยาก
แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เผชิญคลื่นความร้อนในระดับเดียวกับยุโรปตอนใต้ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรและมีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้นเป็นปกติ แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะหากแนวโน้มโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โลกทั้งใบก็จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงและครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต
ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปจึงไม่ใช่เพียงปัญหาของทวีปใดทวีปหนึ่ง หากแต่เป็นสัญญาณเตือนต่อมนุษยชาติว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันรับมือกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
