ทะเลร้อน หอยสู้ไม่ไหว! หอยเทอร์โบซาซาเอะ อพยพหนีวิกฤตภูมิอากาศ

2 กรกฎาคม 2568 ( 12:30 )
16
ท่ามกลางวิกฤตภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่มนุษย์ที่ต้องเผชิญกับการย้ายถิ่น แต่สัตว์ทะเลเองก็เริ่มเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตามอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ล่าสุด สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งเกาหลี (KIOST) เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยว่า หอยเทอร์โบซาซาเอะ (Turbo sazae) ซึ่งเคยพบมากบริเวณชายฝั่งตอนใต้ของเกาหลีใต้ กำลังขยายถิ่นฐานไปทางตอนเหนือ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งตะวันออก ใกล้เมืองอุลจิน (Uljin)
จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมร่วมกับข้อมูลจาก “โครงการสำรวจระบบนิเวศทางทะเลแห่งชาติ” ขององค์การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลแห่งเกาหลี พบว่า หอยเทอร์โบซาซาเอะขยายถิ่นฐานขึ้นไปยังบริเวณละติจูดที่ 37 องศาเหนือ ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทีมวิจัยนำโดย ดร.ยาง ฮยอนซอง จากศูนย์วิจัยเขตร้อนและกึ่งร้อนของ KIOST และ ดร.โช ยองกัน จากสถาบันวิจัยโคลนทะเลแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การประมงแห่งชาติ ได้ร่วมมือกันวิเคราะห์ลักษณะทางสรีรวิทยา นิเวศวิทยา และพันธุกรรมของหอยเทอร์โบซาซาเอะ โดยพบว่า หอยที่พบรอบเกาะเชจูและชายฝั่งตะวันออกมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่า ลูกหอยอพยพตามกระแสน้ำอย่าง Tsushima Current ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ทางตอนเหนือ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่การวิจัยเปิดเผยคือ การลดจำนวนประชากรของหอยเทอร์โบซาซาเอะ ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินซึ่งเคยถูกตั้งข้อสงสัยมาก่อน แต่เกิดจาก การลดลงของระบบภูมิคุ้มกันของหอย ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยชีวภาพเชจู (Jeju Bio Research Center) ของ KIOST พบว่า ภาวะ “ทะเลแห้งแล้ง” หรือ barren ground จากภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของหอยเทอร์โบซาเซจนทำให้การอยู่รอดของประชากรลดลง
งานวิจัยนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Animals ถือเป็นความสำเร็จสำคัญในการชี้ให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนกำลังเปลี่ยนแปลงการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในทะเล ผ่านหลักฐานทางพันธุกรรมที่ชัดเจน พร้อมทั้งเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจ “กลไกปรับตัวของสิ่งมีชีวิตทางทะเลต่อภูมิอากาศ” และอาจเป็นพื้นฐานในการจัดทำนโยบายรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
