รีเซต

NASA เลิกพึ่งยานอวกาศโซยุซจากรัสเซีย ด้วยจรวดและยานอวกาศของ SpaceX

NASA เลิกพึ่งยานอวกาศโซยุซจากรัสเซีย ด้วยจรวดและยานอวกาศของ SpaceX
TNN ช่อง16
7 ตุลาคม 2565 ( 15:50 )
104

ก่อนหน้านี้นาซา (NASA) เคยสูญเสียความสามารถในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศ หลังสิ้นสุดยุคกระสวยอวกาศในปี 2011 ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาต้องหันมาใช้ยานอวกาศโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียอยู่เกือบทศวรรษ


แต่แล้วเรื่องราวก็เปลี่ยนไป เมื่อบริษัทเอกชนอย่างสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศครูส์ดราก้อน (Crew Dragon) ด้วยจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) และที่สำคัญยานอวกาศครูส์ดราก้อนยังมีต้นทุนต่อที่นั่งถูกกว่า ด้วยราคา 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับต้นทุนต่อที่นั่งของยานอวกาศโซยุซที่มีราคา 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,900 ล้านบาท 


อีกทั้งยังถูกกว่าต้นทุนต่อที่นั่งของกระสวยอวกาศที่นาซาเคยใช้ที่มีราคาถึง 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้นาซาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริการเที่ยวบินสู่อวกาศของรัสเซียอีกต่อไป


ไม่เพียงเท่านี้ นาซายังได้ให้ทุนกับบริษัท สเปซเอ็กซ์และบริษัท โบอิ้ง (Boeing) เป็นจำนวน 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท และ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ ภายใต้โครงการลูกเรือเชิงพาณิชย์ (Commercial Crew Program) เพื่อพัฒนายานอวกาศลำใหม่ ส่งผลให้บริษัทเอกชนทั้ง 2 แข่งขันกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนายานอวกาศ และนี่อาจเป็นความพยายามในการพัฒนายานอวกาศลำใหม่ที่ถูกที่สุดเท่าที่นาซาเคยทำมา


อย่างไรก็ตาม ต้นทุนต่อที่นั่งของยานอวกาศโบอิ้ง สตาร์ไลเนอร์ (Boeing Starliner) จากบริษัท โบอิ้ง มีต้นทุนต่อที่นั่งราคา 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีราคาสูงกว่าของบริษัท สเปซเอ็กซ์


โดยโครงการในอดีตอย่างโครงการอะพอลโล (Apollo Program) มีต้นทุนต่อที่นั่งราคา 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท และโครงการเมอร์คิวรี (Mercury Program) มีต้นทุนต่อที่นั่งราคา 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท ในขณะที่โครงการเจมินี (Gemini Program) มีต้นทุนต่อที่นั่งราคา 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท

ข้อมูลจาก www.statista.com

ภาพจาก www.spacex.com และ www.gettyimages.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง