ช่องโหว่ชั้นโอโซนฟื้นตัว ปิดแคบลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเปลี่ยนทิศทางลมกระแสหลักของโลกกลับเป็นปกติ
ช่องโหว่ชั้นโอโซนฟื้นตัว ปิดแคบลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเปลี่ยนทิศทางลมกระแสหลักของโลกกลับเป็นปกติ - BBCไทย
ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องโรคระบาดที่กำลังถาโถมเข้ามา ยังมีข่าวดีด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง โดยมีรายงานว่าช่องโหว่ในชั้นโอโซนของบรรยากาศโลกยังคงมีแนวโน้มจะปิดแคบลงเรื่อย ๆ และมีการฟื้นคืนสภาพมากพอ จนเริ่มส่งผลดีต่อระบบภูมิอากาศของโลกโดยรวม
ผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากแคนาดา สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่าการหนาตัวขึ้นของชั้นโอโซนที่เคยได้รับความเสียหาย ทำให้กระแสลมกรดซีกโลกใต้ (Southern Jet Stream) พัดกลับคืนสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น จนหลายภูมิภาคในซีกโลกใต้ไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งเหมือนเดิม
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่พบว่า ช่องโหว่ในชั้นโอโซนส่งผลรบกวนต่อสภาพอากาศโดยรวมของโลกได้ โดยการใช้สารเคมีจำพวกคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) ซึ่งมักใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตสเปรย์ต่าง ๆ เป็นตัวการทำลายชั้นโอโซนให้บางลง
- ไฟป่าออสเตรเลีย : โลกขยับเข้าใกล้ “การสูญพันธุ์ระดับมหึมา ครั้งที่ 6”
- นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกว่าหมื่นคนประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ"
- ภูมิอากาศ-ฤดูกาลของเมืองใหญ่ทั่วโลกจ่อผันแปรรุนแรงใน 30 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม พิธีสารมอนทรีออลที่นานาประเทศลงนามเมื่อปี 1987 ได้จำกัดการใช้สารซีเอฟซีอย่างได้ผล ทำให้ช่องโหว่ของชั้นโอโซนขนาดมหึมาเหนือขั้วโลกใต้เริ่มหดแคบลง โดยภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเดือนก.ย.ของปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นว่าช่องโหว่ดังกล่าวมีขนาดลดลงมาอยู่ที่ 16.4 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นขนาดเล็กที่สุดนับแต่ปี 1982
ดร. อันทารา บาเนอร์จี ผู้นำทีมวิจัยจากองค์การบริหารงานด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) บอกว่าก่อนช่วงปี ค.ศ. 2000 กระแสลมกรดซีกโลกใต้ ซึ่งเป็นลมพัดเร็วกระแสหลักสายหนึ่งของระบบไหลเวียนในบรรยากาศโลก ได้เริ่มเบี่ยงทิศทางลงมายังด้านทิศใต้มากขึ้น โดยมีความเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยที่ราว 1 องศาละติจูดในทุก 10 ปี ทำให้หลายพื้นที่ในซีกโลกใต้ต้องพบกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน
แต่หลังจากเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา ทีมผู้วิจัยพบว่ากระแสลมกรดซีกโลกใต้หยุดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว และเริ่มพัดกลับไปในทิศทางเดิม ทำให้คาดการณ์ได้ว่าออสเตรเลียจะไม่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงมากเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสลมกรดซีกโลกใต้จะไม่ผลักเอาพายุฝนออกไปห่างชายฝั่งอีกต่อไป
ส่วนประเทศแถบอเมริกาใต้ตอนกลาง เช่นปารากวัย อุรุกวัย บราซิลตอนใต้ และอาร์เจนตินาตอนเหนือ อาจมีปริมาณฝนลดลง แต่ภูมิภาคแถบพาตาโกเนียอย่างชิลีและอาร์เจนตินาตอนใต้จะมีฝนตกมากขึ้น และจะมีระดับความเข้มของรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายลดลงด้วย
"แต่ข่าวดีนี้อาจยังไม่ดีพอ หากเรายังไม่ตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะไปบั่นทอนผลดีที่เกิดจากการฟื้นฟูชั้นโอโซนให้ลดลง นอกจากนี้ เรายังคงไม่ทราบว่าชั้นโอโซนที่หนาตัวขึ้น จะช่วยชะลอการละลายของธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาได้ด้วยหรือไม่" ดร. บาเนอร์จีกล่าว