รีเซต

ประเทศไทยเสี่ยงเผชิญ ‘ปะการังฟอกขาว’ อาจเกิดขึ้นเดือนพ.ค. นี้

ประเทศไทยเสี่ยงเผชิญ ‘ปะการังฟอกขาว’ อาจเกิดขึ้นเดือนพ.ค. นี้
TNN ช่อง16
23 เมษายน 2567 ( 16:09 )
41

วันนี้ ( 23 เม.ย. 67 ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การติดตามภาวะทะเลเดือด จากโลกร้อน ขณะนี้อยู่ในระดับรุนแรงที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา และอุณหภูมิของอากาศ รวมถึงอุณหภูมิของทะเลจะยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงปรากฎการณ์เอลนีโญใกล้จบลง มีลานีญาเข้ามาแทน 


อย่างไรก็ตามภายใน 5-7 ปี เอลนีโญ่ก็จะกลับมาอีกและจะยิ่งส่งผลต่ออุณหภูมิโลกให้เดือดสูงขึ้นกว่าเดิม ผลที่ตามมาคือระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย เห็นได้ชัดจากที่สำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA (โนอ้า) เปิดเผยข้อมูล ว่า ขณะนี้ทั่วโลกได้เผชิญกับปะการังฟอกขาว ซึ่งล่าสุด 54 ประเทศเกิดปะการังฟอกขาวไปมากกว่าร้อยละ 50 และอยู่ในระดับหายนะ คือระดับ 4 จาก 5 ระดับ 

ที่สำคัญมหาสมุทรใหญ่ ๆ อย่างมหาสมุทรอินเดีย และหมู่เกาะมัลดีฟส์ ก็กำลังประสบกับปัญหานี้ ขณะเดียวกันทะเลอันดามันก็จะเกิดปะการังฟอกขาวรุนแรง 


สำหรับทะเลอ่าวไทย อ.ธรณ์ บอกว่า อยู่ในระดับน่าห่วง โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่อุณหภูมิน้ำทะเลร้อนสูงสุด และต้องจับตาในเดือนพฤษภาคม ปะการังไทยจะเริ่มฟอกขาว ขณะที่ภาคใต้ ก็หนีไม่พ้นปะการังฟอกขาว แต่สถานการณ์อาจไม่ถึงกับทำให้ปะการังตายสนิท มีโอกาสฟื้นได้แต่ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี


ส่วนแนวทางการรับมือ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ นอกจากช่วยกันลดการกระทำที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อน คือ การเร่งออกกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ผลักดัน ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบได้ในอนาคต เพราะหากเริ่มมีมาตรการทางกฎหมายชัดเจนวันนี้ อีก 30 - 40 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นสภาวะของโลกที่เย็นลง


ทั้งนี้ผลกระทบที่มาพร้อมกับภาวะโลกเดือด นอกจากปะการังฟอกขาวซึ่งทั่วโลกเผชิญกันมาทุกปี คือ หญ้าทะเล ถือเป็นผลกระทบชัดเจนจากโลกร้อนโดยอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น ทำลายลึกลงไปถึงรากจนทำให้หญ้าทะเลตาย 

สัตว์น้ำอย่างเช่นพะยูน ต้องอพยพหนีไปหาแหล่งอาหารใหม่ ในทะเล จ.กระบี่ จ.ภูเก็ต ขณะที่แหล่งหาอาหารใหม่หญ้าทะเลก็เริ่มล้มตายลงเช่นกัน นอกจากนี้การที่พะยูนอพยพไปหาแหล่งอาหารใหม่ ภาครัฐก็ต้องมีแนวทางในการเข้ามาอนุรักษ์ 


ปัญหาที่พบ คือ หากจะอนุรักษ์ทั้งหญ้าทะเล และพะยูน ภาครัฐต้องบริหารจัดการ - การท่องเที่ยว เพราะกระบี่ และภูเก็ต เป็นจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวมีเงินหมุนเวียนปีละ 8 หมื่นล้านบาท แต่ทั้งนี้การบริหารการท่องเที่ยว ก็ต้องไม่กระทบกับการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่ หรือ ต้องมีแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและประชาชน


ภาพจากAFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง