รีเซต

เตรียมสร้างทางรถไฟดวงจันทร์ ! สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องสร้าง ?

เตรียมสร้างทางรถไฟดวงจันทร์ ! สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องสร้าง ?
TNN ช่อง16
27 มีนาคม 2567 ( 14:15 )
41
เตรียมสร้างทางรถไฟดวงจันทร์ ! สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องสร้าง ?

มนุษย์วางแผนจะไปสร้างอาณานิคมบนดวงจันทร์ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมบนดวงจันทร์ เช่น เหมืองน้ำแข็ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงงาน และการคมนาคม ซึ่งล่าสุด หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้ทางการทหารอย่าง ดาร์ปา (DARPA ย่อมาจาก Defense Advanced Research Projects Agency) ได้ทำสัญญากับ นอร์ธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) บริษัทเทคโนโลยีการบินและอวกาศสัญชาติสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาแนวคิด “ทางรถไฟบนดวงจันทร์” 


ทั้งนี้ ดวงจันทร์มีพื้นที่ประมาณ 38 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับทวีปแอฟริกาที่มีพื้นที่ประมาณ 30.37 ล้านตารางกิโลเมตร รวมกับทวีปออสเตรเลียที่มีพื้นที่ 7.69 ล้านตารางกิโลเมตร ถึงแม้จะไม่ได้ใหญ่เท่ากับโลกของเรา แต่ก็จำเป็นที่ต้องมีระบบขนส่งเพื่อเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดทางรถไฟบนดวงจันทร์ คำถามต่อมาคือทำไมต้องเป็นทางรถไฟ ?


ทางรถไฟบนดวงจันทร์ไม่เพียงแต่เชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น ยังถือเป็นการแก้ปัญหาท้าทายอย่างหนึ่ง คือ ฝุ่นบนดวงจันทร์นั้นมีฤทธิ์กัดกร่อนเพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดน้ำ ไฟฟ้าสถิตย์ของฝุ่นจึงเกาะติดกับชุดนักบนอวกาศและอุปกรณ์ ทำให้ชุดทั้งสกปรกและผุพังเร็วมาก การเดินทางโดยรถไฟ จึงช่วยลดการสัมผัสของมนุษย์กับฝุ่น และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้


เหตุผลอีกประการคือเพื่อลดร่องรอยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนดวงจันทร์ ทั้งนี้มนุษย์สร้างยานโรเวอร์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ที่เรียกว่า มูน บักกี้ (Moon Buggies) แต่ปัญหาคือหากใช้มูน บักกี้เยอะมาก ๆ มันจะทำให้เกิดร่องรอยการเดินทางบนดวงจันทร์ และส่งผลให้ดวงจันทร์เสียหายในระยะยาว เหตุการณ์นี้แตกต่างจากบนโลก เพราะหากเกิดรอยบนโลก ไม่นานฝนหรือการกัดเซาะระยะสั้นก็จะทำให้ร่องรอยหายไป แต่บนดวงจันทร์จะไม่มีมีสิ่งมาลบล้างรอยที่เกิดขึ้น ร่องรอยนั้นจะคงอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาหลายพันล้านปี ดังนั้นการเดินทางบนรถไฟจึงเป็นการลดการเสียหายของดวงจันทร์ในระยะยาวด้วย 


สัญญาล่าสุดของดาร์ปากับนอร์ธรอป กรัมแมน ครอบคลุมหัวข้อหลายอย่างเกี่ยวกับการพัฒนา ตั้งแต่การจัดเรียงอินเทอร์เฟซและทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้าง จัดทำรายการเกี่ยวกับต้นทุน ความเสี่ยงทางเทคโนโลยีและลอจิสติกส์ การพัฒนาโมเดลต้นแบบ แนวคิด สถาปัตยกรรม การใช้หุ่นยนต์ช่วยสร้าง การสร้างฐานราก การวางราง รวมถึงแผนหลังจากสร้างเสร็จซึ่งต้องมีการตรวจสอบ การบำรุงรักษา และการซ่อมแซมรางด้วย


คริส อดัมส์ (Chris Adams) รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ระบบอวกาศเชิงกลยุทธ์ของนอร์ธรอป กรัมแมน บอกว่า “การลงทุนในการวิจัยและการพัฒนาครั้งนี้ ทำให้เทคโนโลยีของเราอยู่ในระดับแนวหน้าของโซลูชั่นรุ่นถัดไป ด้วยประสบการณ์ในการบูรณาการระบบที่ซับซ้อน เราจะยังคงสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสำหรับระบบนิเวศอวกาศที่ยั่งยืน”


ทั้งนี้กำหนดการณ์ หรือ รายละเอียดอื่น ๆ ยังไม่เปิดเผยออกมา แต่ก็นับว่าเป็นแนวคิดและแผนการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เตรียมความพร้อมมาก ๆ ในการเดินทางไปดวงจันทร์


ที่มาข้อมูล NewAtlas, NorthropGrumman

ที่มารูปภาพ NewAtlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง