รีเซต

ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลมว่าว “Kitepower Hawk” ติดตั้งง่ายเคลื่อนย้ายสะดวก

ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานลมว่าว “Kitepower Hawk” ติดตั้งง่ายเคลื่อนย้ายสะดวก
TNN ช่อง16
1 ธันวาคม 2566 ( 14:54 )
80

ไคต์พาวเวอร์ (Kitepower) สตาร์ทอัพสัญชาติดัตช์  เปิดตัว ไคต์พาวเวอร์ ฮอล์ค (Kitepower Hawk) โซลูชันสุดล้ำที่ผสมผสานการผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยพลังงานลมจากว่าว เข้ากับระบบแบตเตอรี่ชาร์จไฟในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้นำไปใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น


Kitepower

 


การทำงานของระบบนี้ จะรวมเอาหลักการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบ Airborne Wind Energy System - AWE ที่ใช้ว่าวขนาดใหญ่เป็นตัวดึงพลังงานลมจากอากาศมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีข้อดีคือสามารถเข้าถึงลมที่แรงขึ้น ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น ติดตั้งในพื้นที่ ที่ไม่สามารถติดตั้งกังหันลมแบบดั้งเดิมได้ เช่น บริเวณที่มีประชากรหนาแน่นหรือบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด และยังไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ทำงานมากเท่ากับระบบกังหันลมแบบดั้งเดิม


โดยบริษัทจะนำวิธีการผลิตไฟฟ้าแบบนี้ มารวมเข้ากับระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ในตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ได้ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้า ที่สามารถติดตั้งและขนย้ายได้ง่าย นำไปวางในพื้นที่ไซต์งานก่อสร้าง เกษตรกรรม และชุมชนได้สะดวกมากขึ้น สำหรับการผลิตไฟฟ้าแต่ละครั้ง ระบบจะทำงานโดยการปล่อยสายโยงว่าว ขึ้นไปที่ความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 350 เมตร เพื่อรับแรงลม ใช้สร้างพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 40 กิโลวัตต์ (kW) ต่อ 1 รอบ และเมื่อหมดรอบ สถานีภาคพื้นดินก็จะใช้พลังงานประมาณ 10 กิโลวัตต์ (kW) เพื่อดึงว่าวกลับเข้ามา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตไฟฟ้าในรอบนั้น ๆ


ภาพจาก Kitepower

 


จากนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ได้ ก็จะนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดความจุ 400 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) ที่อยู่ในคอนเทนเนอร์ เพื่อนำไปใช้ชาร์จยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า หรือชาร์จเครื่องจักรต่าง ๆ  ด้วยวิธีนี้ ก็จะทำให้ ไคต์พาวเวอร์ ฮอล์ค ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานอิสระ ที่ทำงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 


อย่างไรก็ตามตอนนี้ บริษัทยังไม่ได้ให้รายละเอียดด้านราคาต่าง ๆ ออกมา แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโซลูชันด้านพลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจ ที่ใช้พลังงานลมเข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างยั่งยืนมากขึ้น




ข้อมูลจาก interestingengineering,  thekitepower,  newatla

ข่าวที่เกี่ยวข้อง