รีเซต

รู้จัก "ไมโครพลาสติก" ภัยเงียบจากท้องทะเล สู่กระเพาะอาหารคน ในวันมหาสมุทรโลก

รู้จัก "ไมโครพลาสติก" ภัยเงียบจากท้องทะเล สู่กระเพาะอาหารคน ในวันมหาสมุทรโลก
Ingonn
8 มิถุนายน 2564 ( 14:39 )
537

"วันทะเลโลก" หรือ "วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day)" ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี มีขึ้นเพื่อให้คนเราตระหนักและอนุรักษ์ทะเลให้สวยงาม เพราะนอกจากทะเลจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว มหาสมุทรทั่วโลกยังเปรียบเสมือนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของโลกอีกด้วย แต่รู้ไหมว่าทะเลหรือมหาสมุทรนั้น ล้วนมีแต่ขยะที่มาจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น

 

 

ประเทศไทยติดอันดับที่ 10 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก 


จากการเปิดเผยของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าขยะในทะเลส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม เป็นต้น ถัดมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก เป็นต้น ยังไม่รวมขยะอื่นๆที่พบได้ในทะเล เช่น ถุงพลาสติก ฝาน้ำ และเศษบุหรี่ไม่เฉพาะแค่การท่องเที่ยว แต่รวมไปถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นจากบุคคล ครัวเรือน อุตสาหกรรม ขยะเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำต่างๆ จากลำคลอง สู่แม่น้ำ ท้ายที่สุดแล้วก็จะมีขยะส่วนหนึ่งลงสู่ท้องทะเลปัญหาขยะล้นทะเลไทยเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรายังขาดการจัดการขยะอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

 

 

จากขยะทะเล สู่ไมโครพลาสติก


ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้มีความเกี่ยวข้องกับพลาสติกจนแทบทุกอย่างที่เราใช้ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ซึ่งพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรไปจนถึง นาโนเมตร หรือ พิโคเมตรหรือเล็กเท่ากับขนาดของแบคทีเรียหรือไวรัส เราจะเรียกว่า “ไมโครพลาสติก” 


ไมโครพลาสติก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

 

1.เป็นพลาสติกขนาดเล็กที่ผลิตขึ้นตามวัตถุประสงค์ เช่น พลาสติกที่ผสมอยู่ใน โฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง ครีมขัดผิว รวมทั้งยาสีฟัน

 

2.พลาสติกที่มีขนาดใหญ่แตกหักหรือผุกร่อนจนกลายเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งหมายรวมทั้งพลาสติกที่ย่อยสลายได้ก็รวมอยู่ในพลาสติกชนิดนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากพลาสติกชนิดนี้สามารถย่อยสลายได้เฉพาะเมื่ออยู่บนบก แต่เมื่อลงไปในทะเลจะไม่มีแบคทีเลียคอยช่วยย่อยสลายเนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิต่ำกว่าบนบก

 

 


ไมโครพลาสติกมาจากไหน


มีต้นกำเนิดจากพลาสติกที่ผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันประกอบด้วยสารโพลีพรอพีลีน เช่น ขวดน้ำดื่มประกอบด้วยสารพอลิเอทิลีน เทเรฟธาเรต และฟิล์มห่ออาหาร ผลิตจาก โพลี่ไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นต้น 


เมื่อพลาสติกลอยในน้ำนานๆจะเกิดการสลายตัว กลายเป็นเศษพลาสติก ลดขนาดลงเรื่อยๆจนเข้าสู่ระดับไมโครพลาสติก

 

 


ไมโครพลาสติกจากทะเล สู่กระเพาะอาหาร


ไมโครพลาสติกสามารถดูดซึมสารพิษที่มีอยู่ในทะเล ดังนั้น ยิ่งอยู่ในน้ำทะเลนาน ไมโครพลาสติกจะมีความเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตตั้งแต่ต้นห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นแพลงตอนสัตว์ในทะเลจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้เข้าไป ส่วนสิ่งมีชีวิตท้ายห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นมนุษย์ อาจได้รับสารพิษตกค้าง เพราะไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กสามารถผ่านผนังเซลล์ ซึ่งมีนักวิจัยนำเสนอความเป็นไปได้ว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้อาจโดนลมพัดและล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ปอดของสิ่งมีชีวิตได้ เป็นเหมือนมลภาวะทางอากาศเช่นเดียวกับไอเสียจากรถยนต์

 

แม้ขณะนี้จะยังไม่มีผลการศึกษาผลกระทบจากไมโครพลาสติกในคนอย่างชัดเจน แต่มีการวิจัยผลกระทบในสัตว์น้ำอย่างเช่น ปลาและกุ้ง พบว่าไมโครพลาสติกที่สะสมในตัวสัตว์ขนาดเล็กจะทำให้เนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเป็นแผล และยับยั้งการเจริญเติบโตของสัตว์ ดังนั้น หากเราบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนก็มีโอกาสสะสมก่อโรคต่างๆ ขึ้นได้ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในคน เพียงแต่ระยะเวลาที่จะแสดงอาการอาจจะช้ากว่าสัตว์ขนาดเล็ก และแน่นอนว่าไมโครพลาสติก ย่อยด้วยกระบวนการในร่างกายไม่ได้ การสะสมของพลาสติกที่อาจมีสารเจือปน ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน 

 

การหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไม่โครพลาสติก จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

 

 


วิธีการแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติก


การแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติก จะสอดคล้องกับนโยบายการจัดการขยะพลาสติกในทะเลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการจัดการอย่างยั่งยืน และเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ดังนี้


1. กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยร้ายของขยะพลาสติก ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ เพื่อลดปริมาณการใช้ Single use plastic และให้มีการจัดการขยะทุกบ้านเรือน ไม่ทิ้งขยะเรียราด มีการคัดแยกขยะ

 

2. ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติกในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

 

3. นำผลิตภัณฑ์พลาสติกเก่ากลับมาใช้ใหม่ (Recycle และ Reuse)

 

4. การฝังกลบขยะพลาสติกในที่ฝั่งกลบขยะ (Landfill) ที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาจมีบางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำในช่วงฝนตกหนักหรือน้ำท่วมและขยะพลาสติกเหล่านี้จะไหลลงสู่ทะเลในที่สุด จึงควรมีการดักขยะพลาสติกในบริเวณคลองหรือท่อระบายน้ำ โดยใช้ตาข่ายและอวน หรือแห ดักขยะจากบริเวณปากแม่น้ำหรือปากคูคลองระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดรอดไหลลงสู่ทะเล ตัวอย่างที่เทศบาลในจังหวัดระยองได้ทำสำเร็จมาแล้ว รวมถึงการติดตั้งทุ่นกักขยะ และการจัดเก็บในทะเลในบางพื้นที่ เป็นต้น

 

5. การกำจัดด้วยการเผาทำลายอย่างถูกวิธี เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า

 

 

 


ลดไมโครพาสติกง่ายๆด้วยตัวเรา


เราสามารถช่วยกันลดไมโครพาสติก หรือขยะอื่นๆได้ ด้วยการัดแยกขยะให้ถูกประเภทและนำขยะที่ใช้ประโยชน์ได้นำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยหลัก 7R


Refuse (ปฏิเสธการใช้) เลี่ยงการใช้โฟม หรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้า


Refill (การใช้สินค้าที่เติมได้) เลือกซื้อสินค้าชนิดเติม แทนการซื้อแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม , น้ำยาซักผ้า


Return (การหมุนเวียนมาใช้ใหม่) เลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ส่งคืนไปยังผู้ผลิตได้ เช่น ส่งคืนขวดเครื่องดื่มเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่


Repair (การซ่อมแซม) ถนอมสิ่งของตอนใช้งาน ซ่อมแซมเมื่อชำรุด เช่น เปลี่ยนเฉพาะชิ้นส่วนที่เสียหายแทนการซื้อใหม่


Reuse (การใช้ซ้ำ) นำของที่มีกลับมาใช้ซ้ำ จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน เช่น พกถุงผ้าไปใส่ของทุกครั้ง


Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) นำวัสดุเหลือใช้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นกระถางปลูกต้นไม้


Reduce (การลดการใช้) ลดการใช้ของสิ้นเปลือง ใช้ของเท่าที่จำเป็น ช่วยลดขยะแถมลดรายจ่าย เช่น ใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนกระดาษทิชชู่

 

 

 

“ทะเลเป็นแหล่งอาหารใหญ่ของมนุษย์ ถ้าไม่ลดขยะในทะเลเท่ากับทำลายระบบห่วงโซ่อาหารของเราเอง”

 

 

ข้อมูลจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , trueplookpanya

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง