วันมหาสมุทรโลก World Ocean : ร่างกายต้องการทะเล แต่ทำไมขั้วโลกเหนือต้องละลาย
วันมหาสมุทรโลก World Ocean หรือวันทะเลโลก ตรงกับวันนี้ 8 มิถุนายนของทุกปี เชื่อว่าหลายคนต้องอุทานคำว่า "ร่างกายต้องการทะเล" "อยากไปนั่งโง่ ๆ ริมทะเล" หรือ "อยากไปกอดทะเล" และหากสังเกตดี ๆ ทะเลกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนต่างเลือกเพื่อเติมเต็มความสุข หรือเยียวยาชีวิตให้กลับมามีพลังดี ๆ อีกครั้งหากมองในแง่วิทยาศาสตร์แล้วนั้น ร่างกายคนเราต้องการทะเลจริง ๆ ไม่ใช่เพราะมันดีต่อใจ แต่เพราะมันดีต่อร่างกายด้วยคนเราด้วยจริง ๆ
5 เหตุผลร่างกายต้องการทะเล
1. อากาศบริสุทธิ์ดีต่อระบบทางเดินหายใจ อากาศบริสุทธิ์สดชื่นไม่ได้มีแค่ในป่าเท่านั้น แต่อากาศยังเจือกลิ่นเค็มของท้องทะเลที่แสนบริสุทธิ์เป้นมิตรของระบบทางเดินหายใจของเราอย่างแท้จริง เพราะมันเต็มไปด้วยไอโอดีน แมกนีเซียม และธาตุอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่เชื่อโควิดซาเมื่อไหร่ลองย้ายตัวเองมานอนสูดอากาศเคล้าเสียงคลื่นดูสักคืนก็จะพบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แถมอากาศที่พัดพามาจากทะเลยังประกอบไปด้วยประจุลบของไฮโดรเจนช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซับออกซิเจนได้ดียิ่งขึ้น สร้างสมดุลของระดับเซโรโทนิน อันมีผลในการช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย และลดภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
2. วิตามิน ดี เสริมสร้างความแข็งแรง การอาบแดดหรือรับแดดริมทะเลทุกวันยังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน ดี ที่มีคุณสมบัติในการเสริมสร้างแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ดูดซึมวิตามิน เอ กระตุ้นภูมิคุ้มกันตัวเอง เพิ่มระดับสารเอ็นดอร์ฟิน ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง เพียงให้ร่างกายได้รับแสงแดดอย่างพอเพียงทุกวัน (ราว 5 – 30 นาที) น้ำมันในผิวหนังจะทำปฏิกิริยากับแสงแดดก่อให้เกิดวิตามินซึ่งจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอีกทีนั่นเอง
3. น้ำทะเล เพิ่มภูมิคุ้มกัน การแหวกว่ายในน้ำทะเลเป็นประจำจะช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้ และ ในน้ำทะเลยังมีแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม แคลเซียม โซเดียม และไอโอดีน ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลต่อร่างกาย ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ เนื่องจากมีผลวิจัยยืนยันว่าระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงสามารถเพิ่มขึ้นได้ระหว่าง 5 -20 % หลังจากได้ว่ายหรืออาบน้ำทะเล รวมทั้งการแช่น้ำทะเลในระยะเวลาที่มากพอยังช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดภายในร่างกายดีขึ้น
4. แมกนีเซียม คลายความเมื่อยล้า สำหรับคนที่เหนื่อยล้าจากการใช้ชีวิตประจำวัน มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ คิดมาก วิตกกังวล หากมีโอกาสลองหย่อนตัวนิ่ง ๆ ลงในน้ำทะเลลึกดูสักหน่อย เพราะแมกนีเซียมในน้ำทะเลมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ลดความตึงเครียด รวมถึงมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงานอีกด้วย
5. ทรายชายหาด เคล็ดลับผิวเนียนนุ่ม ใครที่อยากผิวเรียบเนียนใสไม่ต้องไปเข้าสปาให้เสียเงิน ลองให้ทะเลเป็นนอีกหนึ่งทางเลือก ทิ้งตัวลงเกลือกกลิ้งบนผืนทรายเนื้อละเอียด ความหยาบที่พอประมาณของทรายทะเลรวมกับแร่ธาตุในทรายและน้ำทะเลจะทำหน้าที่เป็นสครับธรรมชาตินั่นเอง และช่วยกระตุ้นรูขุมขนให้ขับของเสียได้ดีขึ้น
เห็นประโยชน์ดี ๆ จากทะเลที่มีต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์อย่างเรา ๆ แล้ว ลองมาดูอีกแง่หนึ่งของทะเล หรือมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลกันบ้าง ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีประโยชน์หลากหลายมิติที่ไม่มีเพียงต่อมนุษย์ แต่ยังรวมสิ่งมีชีวิต และโลกใบนี้
มหาสมุทร มีดีอย่างไร ?
- มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 91 และกักเก็บน้ำร้อยละ 97 ของแหล่งน้ำทั้งหมด จึงเป็นหล่งอาหารและแหล่งผลิตแก๊สออกซิเจนที่สำคัญของโลก
- น้ำที่ระเหยในมหาสมุทรจะกลายเป็นน้ำฝนที่ตกลงบนพื้นดิน ซึ่งมนุษย์ยังสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภค
- กระแสน้ำในมหาสมุทรยังกำหนดฤดูกาลในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกได้
- วัตถุดิบบางชนิดจากท้องทะเล สามารถปรุงยาได้หลายชนิด เช่น ยาแก้อักเสบ และยาต้านมะเร็ง
- มนุษย์กว่าร้อยละ 90 เดินทางท่องเที่ยวชายหาด ทำกิจกกรมทางน้ำในทะเลทั่วโลก
- การท่องเที่ยวทางทะเลดูดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวหมุนเวียนสู่ท้องถิ่น สร้างแรงงานภาคบริการให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นด้วย
- มหาสมุทรเป็นแหล่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เพราะมีเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรเพื่อขนส่งสินค้า โดยคิดเป็นร้อยละ 90 ของเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งหมด
- เป็นแหล่งพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากทะเลเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตประมาณ 200,000 ชนิดพันธุ์
เมื่อมหาสมุทร หรือทะเลโลกมีประโยชน์ขนาดนี้ เคยคิดบ้างไหม ? ทำไมมหาสมุทรเชื่อมโยง "ขั้วโลกเหนือละลายเร็ว"
เนื่องจากโลกปัจจุบันกำลังพบเจอกับปัญหาโลกร้อน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลกระทบอย่างมาก ซึ่งจากการค้นพบข้อมูลพบว่า ถ้าโลกร้อนขึ้น 3 องศา จะส่งผลกระทบ น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย
โดยพื้นที่แถบอาร์กติกอาจมาถึงขั้นที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเก่าได้ อุณหภูมิแถบขั้วโลกจะสูงขึ้นเร็วกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ซึ่งส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งสูญเสียน้ำแข็งไปราว 400 ลูกบาศก์กิโลเมตรภายใน 40 ปี รวมทั้งเคยมีรายงานที่ระบุว่า เขตขั้วโลกเหนือแถบวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 38 องศาเซลเซียส ทั้งที่อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนในแถบนั้นเพียง 13.2 องศาเซลเซียสเท่านั้น และในแถบไซบีเรียยังร้อนผิดปกติจนเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่
จะเห็นได้ว่า เมื่อธารน้ำแข็งละลายก็จะส่งผลต่อระดับน้ำทะเล ภายในปี 2050 เมืองชายฝั่งที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 570 เมืองทั่วโลก อาทิ นิวยอร์ก ไมอามี กรุงเทพฯ เซี่ยงไฮ้ กรุงจาการ์ตา มีสิทธิ์ถูกน้ำทะเลท่วม ส่งผลกระทบกับประชากรราว 800 ล้านคน และภายในปี 2100 น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นราว 1 เมตร
เราอาจจะ "ไม่รอด" จากโควิด และ "โลกร้อน" หากยังทำพฤติกรรมซ้ำซาก
จากที่กล่าวข้างต้นเชื่อว่าส่วนใหญ่คงมองว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย เป็นเรื่องไกลตัว แต่หากลองทบทวนดี ๆ ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงที่มีมนุษย์เกี่ยวข้องแทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะทางทะเล การใช้คมนาคม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้โฟม พลาสติกที่ล้วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เร่งวันให้ น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย เร็ว
แต่เดิมน้ำแข็งทะเลที่มีหิมะปกคลุมนั้น จะทำหน้าที่สะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์กลับไปนอกโลกราว 80% ส่วนมหาสมุทรจะดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ 95% แต่หากน้ำแข็งทะเลเริ่มละลายเมือ่ไหร่ พื้นผิวหน้าของมหาสมุทรก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยิ่งดูดซับความร้อนมาสะสมจนอุณหภูมิสูงขึ้น และนี่เองที่ทำให้น้ำแข็งไม่สามารถก่อตัวได้ในฤดูหนาว เมื่อไม่มีน้ำแข็งสะท้อนความร้อนกลับ ลองนึกภาพตามดูจะเห็นว่า มหาสมุทรก็ยิ่งดูดความร้อน ซึ่งเมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้นนั่นเท่ากับว่า มหาสมุทรหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลงด้วยเช่นกัน และนี่แหละที่ทำให้ก๊าซเหล่านี้สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและทำให้โลกร้อนขึ้น
ทีนี้คงจะเห็นภาพกันมากขึ้นแล้วใช่ไหมว่า ทำไมมหาสมุทรถึงเชื่อมโยงน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายเร็วได้ ดังนั้น มาปรบพฤติกรรมลดโลกร้อนง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ทำเรื่องใกล้ตัวด้วยการช่วยลดโลกร้อน แค่เพียงงดใช้โฟม ลดการใช้พลาสติก เปลี่ยนใช้จักรยานบ้าง สิ่งเล็ก ๆ ที่ทุกคนทำได้เลย อย่างน้อยก็ช่วยชะลอปัญหาที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนให้ยืดเวลาออกไปได้บ้าง
เมื่อร่างกายมนุษย์ยังต้องการทะเล ช่วยคืนชีวิตให้มหาสมุทรกันด้วยนะ
ข้อมูล : วิกิพีเดีย, สสส.
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- ประวัติ วันมหาสมุทรโลก หรือ วันทะเลโลก World Oceans Day ปี 2564
- วันทะเลโลก วันมหาสมุทรโลก World Ocean : เลิกกิน 'เห็ดหลุบ' ได้ไหม?