รีเซต

หุ่นยนต์พลังเอไอประจำปี 2023 สุดยอดความล้ำที่น่าจับตา

หุ่นยนต์พลังเอไอประจำปี 2023 สุดยอดความล้ำที่น่าจับตา
TNN ช่อง16
24 ธันวาคม 2566 ( 19:30 )
68
หุ่นยนต์พลังเอไอประจำปี 2023 สุดยอดความล้ำที่น่าจับตา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดทั้งปี 2023 หนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรง คงหนีไม่พ้นเรื่องของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่การมาถึงของ ChatGPT ที่ทำให้วงการเทคโนโลยีต้องสั่นสะเทือน อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์ได้มีลูกเล่นใหม่ ๆ ที่ช่วยให้หุ่นยนต์ตอบโจทย์การช่วยงานมนุษย์ หรือเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกับมนุษย์ได้ทีเดียว 



ภาพจาก รอยเตอร์

 


หุ่นยนต์เอไอประธานบริษัท

ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ประธานบริษัทแล้ว ในชื่อว่า มิกะ (Mika)  เป็นหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์เพศหญิงที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ คล้ายกับ ChatGPT  ซึ่งสามารถสร้างข้อมูลการสนทนาได้คล้ายกับการสร้างภาษาของมนุษย์ พัฒนาโดยบริษัท ฮันสัน โรบอติก (Hanson Robotics) จากฮ่องกง โดยปัจจุบันนี้ เธอทำหน้าที่เป็นซีอีโอทดลองให้กับบริษัท ดิกทาดอร์ (Dictador) บริษัทผู้ผลิตเหล้ารัมชื่อดังในโปแลนด์


สำหรับหน้าที่ของเธอคือการช่วยบริหารงานในบริษัท เหมือนกับผู้บริหารที่เป็นมนุษย์จริง ๆ รวมถึงช่วยวางทิศทางงานให้กับพนักงานที่เป็นมนุษย์ โดยเธอทำตั้งแต่การช่วยเก็บข้อมูล และคัดรายชื่อลูกค้าที่น่าจะมีความสนใจในการสะสมเหล้ารัมระดับไฮเอนด์ เพื่อให้บริษัทเข้าไปทำการตลาดได้ ไปจนถึงการช่วยเลือกศิลปิน ที่จะมาช่วยออกแบบขวดและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเธอจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสำคัญคนหนึ่งของบริษัท แต่เธอก็ยังไม่มีอำนาจในตัดสินใจบางส่วน อย่างเช่น การจ้าง หรือการไล่พนักงานออก เพราะในการตัดสินใจที่สำคัญต่าง ๆ ของบริษัท ยังอยู่ในมือของทีมผู้บริหารที่เป็นมนุษย์ แต่มิกะเองก็กล่าวว่าในการทำงานแล้ว เธอก็มีข้อได้เปรียบเหนือมนุษย์หลายประการเช่นกัน เช่น สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีกระบวนการตัดสินใจที่อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่กว้างขวาง ทำให้มั่นใจได้ว่าทางเลือกที่นำเสนอไปนั้นเป็นกลาง และไม่มีอคติส่วนบุคคล



หุ่นยนต์นักบินจากเกาหลีใต้

ชิ้นต่อไปเป็นผลงานของทีมนักวิจัยจากเกาหลีใต้ ที่ได้พัฒนา “ไพบ็อต” (PIBOT) หุ่นยนต์นักบินคล้ายมนุษย์ตัวแรกของโลก ที่นอกจากจะขับเครื่องบินเองได้แล้ว ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้ด้วย


ผลงานนี้เป็นของสถาบันขั้นสูงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลีใต้ ตัวหุ่นยนต์ ออกแบบมาเพื่อใช้ขับเครื่องบินโดยเฉพาะ มาพร้อมความสามารถในการควบคุมเครื่องบินได้เชี่ยวชาญไม่แพ้นักบินที่เป็นมนุษย์ โดย เดวิด ฮยอนชุล ชิม (David Hyunchul Shim) ผู้นำโครงการนี้กล่าวว่า การผสมผสานระบบปัญญาประดิษฐ์อย่างแชตจีพีที ทําให้ไพบ็อตสามารถจดจําแผนภูมิ การนําทาง ทางอากาศ ได้ทั่วทุกมุมโลก


รวมถึงจดจำขั้นตอนการรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้ทั้งหมด อีกทั้งการออกแบบให้มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ยังทำให้หุ่นยนต์ใช้มือควบคุมสวิตช์ต่าง ๆ ในห้องนักบินได้อย่างแม่นยํา แม้ในช่วงเวลาที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ ด้วยความสามารถเหล่านี้ ทีมงานจึงกล่าวว่าไพบ็อต อาจจะสามารถขับเครื่องบินได้โดยที่มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด และยังสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เร็วกว่านักบินที่เป็นมนุษย์อีกด้วย


อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานักวิจัยก็ได้ทดสอบความสามารถในการขับเครื่องบินของหุ่นยนต์ โดยใช้เครื่องจําลองการบินเท่านั้น ซึ่งนักวิจัยวางแผนที่จะทดสอบศักยภาพของหุ่นยนต์ ด้วยเครื่องบินเบาในโลกแห่งความเป็นจริงในอนาคต และคาดว่าจะพัฒนาหุ่นยนต์ได้สมบูรณ์ภายในปี 2026



หุ่นยนต์ศิลปินเจ้าของผลงานหลักแสนบาท

ส่วนชิ้นนี้ถึงแม้จะไม่ใช่หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ แต่ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงาน ทำได้ไม่แพ้มนุษย์เลยทีเดียว กับผลงานการพัฒนาหุ่นยนต์นักวาดภาพ ทำงานร่วมกับศิลปินมนุษย์ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะสุดล้ำ ที่ใช้การผสมผสานกันระหว่าง ‘ศิลปะและปัญญาประดิษฐ์’ จนออกมาเป็นผลงานภาพวาดเชิงนามธรรม ที่สามารถขายได้ในราคาหลักแสนบาท 


ผลงานนี้เป็นการพัฒนาของศิลปินเชื้อสาย จีน-แคนาดา ซูเกวิน ชอง (Sougwen Chung) ซึ่งก่อนหน้านี้ชองเคยเป็นนักวิจัยที่สถาบัน MIT สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสต์ ส่วนหุ่นยนต์ที่ใช้ เป็นหุ่นยนต์แขนกลที่ให้ชื่อว่า ดี.โอ.ยู.จี (D.O.U.G) ซึ่งจะเลียนแบบท่าทางการวาดภาพของศิลปิน ร่วมกับการใช้อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าสมอง อีอีจี (EEG) และระบบปัญญาประดิษฐ์ ทำให้หุ่นยนต์สั่งการวาดภาพ ตามการอ่านค่าคลื่นไฟฟ้าสมอง และการเคลื่อนไหวของศิลปินได้ 


ชองกล่าวว่าได้เริ่มพัฒนาระบบการทำงานของหุ่นยนต์ตั้งแต่ปี 2015 โดยได้ฝึกหุ่นยนต์จากข้อมูลการวาดภาพของตัวเอง ให้หุ่นยนต์ตอบสนองต่อรอยแปรงที่ลากไปบนผืนผ้า หุ่นยนต์จะสร้างความเชื่อมโยง และลงมือต่อเติมภาพเอง จนท้ายที่สุดก็เป็นเสมือนกับการทำงานร่วมกันระหว่างคนและหุ่นยนต์ มากกว่าเป็นการวาดภาพเลียนแบบ หรือแค่ทำตามคำสั่ง


เรียกได้ว่าหุ่นยนต์แต่ละตัวต่างก็มีความสามารถที่น่าสนใจอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ก็ยิ่งทำให้ความสามารถของหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าสักวันเราอาจจะได้เห็นหุ่นยนต์เหล่านี้มีบทบาทในโลกอุตสาหกรรม มากขึ้นในอนาคต


ข้อมูลจาก reutersnews.yahoo

ข่าวที่เกี่ยวข้อง