ประเด็นร้อน! เบื้องหลังแบรนด์หรู ผลิตที่จีนหรือยุโรป? l การตลาดเงินล้าน

สื่อต่างประเทศ รายงานว่า มีผู้ใช้งาน TikTok จำนวนมากได้โพสต์คลิปวิดีโอ จนกลายเป็นกระแสไวรัล ภายใต้แฮชแท็ก ไชนีสแมนูแฟคเจอเรอร์(#chinesemanufacturer) อ้างว่าตนเองเป็นผู้รับผลิตสินค้าให้กับแบรนด์หรูต่าง ๆ ที่ถูกอ้าง เช่น Louis Vuitton, Chanel และ Hermes เป็นต้น
หนึ่งใน ติ๊กต็อกเกอร์ เหล่านั้น ระบุว่า กระเป๋าแบรนด์หรู สัดส่วนร้อยละ 80 ของโลก ผลิตในจีน โดยบรรดาเจ้าของแบรนด์ จะนำกระเป๋าที่ผลิตจนเกือบจะแล้วเสร็จจากโรงงานในจีน กลับไปยังประเทศของตน เพื่อทำการบรรจุหีบห่อและติดโลโก้ เพื่อให้กลายเป็นว่าสินค้านั้น ๆ ผลิตในอิตาลี หรือ ผลิตในฝรั่งเศส
โดยในคลิปไวรัลดังกล่าว ยังมีฉากหลังเป็นชั้นวางกระเป๋าหรูราคาสุดแพง อย่าง เบอร์กิน (Birkin) ของ แอร์เมส (Hermes) อีกด้วย
ขณะที่อีกหลายราย เน้นย้ำถึงทักษะของคนงานจีน พร้อมแจกแจงรายละเอียดว่าต้นทุนในการผลิตกระเป๋าหรูจริงๆ แล้ว มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ก่อนส่งไปยุโรปเพื่อประทับตราเป็น เมด อิน ฟรานซ์ (Made in France) ในขั้นตอนสุดท้าย และปรับขึ้นราคาอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ถูกนำเสนอผ่านคลิปเหล่านั้น ถูกมองว่าเป็นของลอกเลียนแบบ มากกว่าจะเป็นของแท้ แต่กระแสไวรัลดังกล่าว สะท้อนถึงการทำสงครามการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ผู้ซื้อพึ่งพาจีนมากเพียงใด เพื่อเป็นการตอบโต้การตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐอเมริกา ที่ทำกับจีนโดยตรง
ด้าน เซาต์ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า คำกล่าวอ้างเหล่านั้นถูกปฏิเสธทันที จาก เบเนดิกต์ เอปิเนย์ (Benedicte Epinay) หัวหน้าหน่วยงานซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยของฝรั่งเศส และบอกอีกว่า สมาคมต่อต้านสินค้าปลอมของฝรั่งเศส ได้แจ้งเตือนไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งรวมถึง TikTok และ Meta ให้ไกล่เกลี่ยเพื่อหยุดการให้ข้อมูลที่ผิด ๆ และหมิ่นประมาทเหล่านี้
(นั่นทำให้มีหลายแอคเคาน์ที่หายไป แต่ก็มีแอคเคาน์ใหม่เข้ามาแทน และข้อมูลเหล่านั้น ยังคงมีอยู่ในแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์)
ขณะที่กระทรวงการค้าของฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใด ๆ แต่ฝรั่งเศสเอง มีกฎหมายควบคุมการผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลาก เมด อิน ฟรานซ์ ซึ่งการจะติดฉลากดังกล่าวได้นั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องผ่านการแปรรูปอย่างมีนัยสำคัญในประเทศฝรั่งเศสก่อน จึงจะสามารถประทับตราดังกล่าวได้
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังของฝรั่งเศสยังมีหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบ เพื่อป้องกันความพยายามในการหลอกลวงผู้บริโภคเกี่ยวกับที่มา หรือกระบวนการผลิตของสินค้า เป็นการส่งเสริมความโปร่งใสของผลิตภัณฑ์ในตลาดอีกชั้นหนึ่ง
ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายราย ให้ความเห็นกับ ซีเอ็นเอ็น โดยบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว จะเป็นซัพพลายเออร์ตัวจริง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผลิตที่ถูกกฎหมายมักจะลงนามในข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูล ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ว่า สินค้าที่พวกเขากำลังนำเสนอขายจะเป็นของแท้
ห่าว ดอง (Hao Dong) อาจารย์อาวุโส จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) กล่วว่า ผู้ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังๆ มักจะอยู่ภายใต้ข้อผูกพันตามสัญญาที่เข้มงวดที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้ และแน่นอนด้วยว่า พวกเขาจะไม่ขายสินค้าแบรนด์ดังเหล่านี้บนอินเตอร์เน็ตด้วยแล้วสินค้าแบรนด์หรูผลิตจากที่ใดกันแน่
ความเห็นจาก เรจิน่า ฟรี (Regina Frei) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งลอนดอน (University of the Arts London) บอกว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า นาฬิกา และกระเป๋าถือราคาแพง ที่ติดป้ายว่าผลิตในอิตาลี หรือสวิตเซอร์แลนด์ จะผลิตจากจีน จริงหรือไม่ อาจจะใช่ และไม่ใช่
โดยแบรนด์หรูหลายราย อาจประกอบสินค้า หรือฮาร์ดแวร์บางส่วนในจีน ก่อนจะส่งไปประกอบขั้นสุดท้ายในฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งอาจจะเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าสำหรับนาฬิกาหรูราคาแพง หรือ โท้ต แบ็ก จากแบรนด์สุดหรู แต่จะไม่มีทางทราบได้ทั้งหมดที่ชัดเจน เพราะห่วงโซ่อุปทานสินค้าหรูหราเหล่านี้ ขึ้นชื่อว่ามีความลึกลับ
ศาสตราจารย์ ฟรี กล่าวอีกว่า แม้แต่โรงงานที่ตั้งอยู่ในอิตาลี หรือประเทศอื่น ๆ ก็อาจจะมีความเชื่อมโยงกับจีนได้ ในแง่ความเป็นเจ้าของโรงงาน หรือการจัดการจากต่างประเทศ โดยกระเป๋าราคาแพง ที่ต้องใช้มือทำจำนวนมาก กระเป๋าเหล่านั้น อาจจะประกอบล่วงหน้าจากที่ใดสักแห่ง จากนั้นจะไปเสร็จสมบูรณ์ในฝรั่งเศส
ส่วน ยูโรนิสว์ รายงานความเห็นของนักข่าวสายสีบสวน ซึ่งให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน บอกว่า ไม่มีแบรนด์ใดที่จะพูดได้เต็มร้อย (100%) เลยว่าไม่ได้ผลิตในจีน เพราะในอุตสาหกรรมนี้ยังถูกปกปิดเป็นความลับอยู่
แต่หากถามถึงคลิปไวรัลในสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำเสนอนั้นเป็นสินค้าลอกเลียนแบบ ดังนั้น ข้ออ้างที่บอกว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของผู้ผลิตแบรนด์หรู จึงไม่น่าจะเป็นความจริง
แต่หลังเกิดเป็นกระแสไวรัล ชวนให้มีการตั้งคำถามถึงแหล่งผลิตของสินค้าหรูหรา ว่าผลิตจากที่ใดกันแน่ หรือมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งผลิตในจีนหรือไม่ แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ หรือออกมาชี้แจงจากเจ้าของแบรนด์หรู เกี่ยวกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม จากการเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของแบรนด์หรูหลายราย เช่น หลุยส์ วิตตอง แอร์เมส และชาแนล มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งผลิตไว้ ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน ยุโรป แต่ไม่มีการพูดถึงแหล่งผลิตในจีน
(กราฟิก1) ในเว็บไซต์ของ หลุยส์ วิตตอง ระบุที่มาของแหล่งผลิต ดังนี้ คอลเลกชันเครื่องหนัง ผลิตขึ้นแบบเอ็กซ์คลูซีฟ หรือผลิตแต่เพียงผู้เดียว ในโรงงานผลิต ที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ส่วนการผลิตคอลเลกชันรองเท้า และเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงแว่นกันแดด เกิดขึ้นในฝรั่งเศส และอิตาลี
สำหรับ นาฬิกา ผลิตแต่เพียงผู้เดียว ในโรงงานนาฬิกาที่สวิตเซอร์แลนด์ คอลเลกชันเครื่องประดับ ผลิตขึ้นในฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนน้ำหอม และเทียน ผลิตขึ้นในเมือง กราส ประเทศฝรั่งเศส
ต่อมาแบรนด์ ดิออร์ (Dior) ตามเว็บไซต์ ระบุว่า จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามกฏหมายที่มีผลบังคับใช้ในฝรั่งเศสและยุโรป โดยคอลเลกชันเครื่องหนังของ ดิออร์ ผลิตในยุโรป รองเท้า และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตในฝรั่งเศสและอิตาลี นาฬิกา ผลิตแต่เพียงผู้เดียว ในเวิร์กช็อปของทางแบรนด์เองในสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนคอลเลกชัน โอตกูตูร์ และเครื่องประดับ ผลิตแต่เพียงผู้เดียวในเวิร์กช็อปหรือโรงงานผลิตของแบรนด์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แว่นกันแดด และผ้าพันคอ ผลิตในอิตาลี และกางเกงยีนส์ ผลิตในญี่ปุ่น
ต่อมาแบรนด์ แอร์เมส ระบุว่า สินค้าส่วนใหญ่ของแบรนด์ผลิตขึ้นในฝรั่งเศส โดยมีสถานที่ผลิตและฝึกอบรม 60 แห่งใน 11 ภูมิภาค ทางแบรนด์ มีพนักงานกว่า 25,185 คน และพนักงานมากกว่าร้อยละ 60 ทำงานในฝรั่งเศสตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตอีก 15 แห่งในประเทศอื่นๆ เช่น ในสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส และออสเตรเลีย เป็นต้น
สำหรับ Gucci (กุชชี่) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ส่วนใหญ่ผลิตในอิตาลี ยกเว้นนาฬิกา ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ ส่วน น้ำหอม ผลิตในฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร เครื่องสำอางมีที่มาจากสหภาพยุโรป และแว่นตาบางรุ่น ผลิตในญี่ปุ่น
และ ชาแนล (CHANEL) ระบุแหล่งผลิตในเว็บไซต์ของแบรนด์ บอกว่า กระเป๋าถือ และรองเท้า ผลิตในฝรั่งเศส และอิตาลี สินค้าเครื่องหนังขนาดเล็ก ผลิตในอิตาลี และสเปน ส่วนรองเท้า เอสปาดริญ (Espadrilles เอส-พา-ดริลส์) ผลิตในสเปน และบรรดาเสื้อผ้าถักผลิตในฝรั่งเศส อิตาลี และสกอตแลนด์