ประเทศโซมาเลียต้องเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ภัยแล้งที่ต่อเนื่องยาวนานเกินทศวรรษ และน้ำท่วมใหญ่ในปี 2024 ที่รุนแรง ทำให้ประชากรกว่า 2.6 ล้านคนต้องอพยพ ท่ามกลางวิกฤตความยากจน ความหิวโหย และความขัดแย้งที่เรื้อรังมานานกว่า 30 ปี
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความสิ้นหวังนี้ รัฐบาลโซมาเลียกำลังแสวงหาโอกาสใหม่จาก “เทคโนโลยี” เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ภูมิอากาศโคเปนเฮเกนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Copenhagen Climate Centre) ผ่านการจัดทำรายงาน “การประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยี” ซึ่งเสนอแนวทางการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม
แผนการดังกล่าวครอบคลุมการติดตั้งถังเก็บน้ำฝนกว่า 261,000 หลังบนหลังคาบ้าน ซึ่งจะช่วยเหลือประชากรราว 1.5 ล้านคน การขุดบ่อบาดาล 300 จุดพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับครัวเรือนในชนบทกว่า 25,000 ครัวเรือน รวมถึงการขยายพื้นที่เกษตรที่ใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยระบบน้ำหยด และติดตั้งสถานีพยากรณ์อากาศอัตโนมัติ 200 จุด เพื่อเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันได้ทันท่วงที
แอนน์ โอลฮอฟ ผู้อำนวยการรักษาการของ UNEP Copenhagen Climate Centre กล่าวว่า “เทคโนโลยีไม่ใช่ยาวิเศษ แต่หากใช้อย่างถูกต้องและได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ มันสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนที่อยู่แนวหน้าของวิกฤตภูมิอากาศได้จริง”
ถึงแม้โซมาเลียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดในโลกต่อผลกระทบของโลกร้อน และประชากรกว่าครึ่งยังมีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน แต่รายงานฉบับนี้เสนอทางออกที่ทำได้จริง และต้นทุนไม่สูงนัก ซึ่งรัฐบาลโซมาเลียมองว่าเหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยหวังว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยลดความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร พร้อมปูทางสู่สันติภาพและความมั่นคงในระยะยาว
ฮาฟซา โอมาร์ อับดิลาฮี หัวหน้าหน่วยงานภูมิอากาศของกระทรวงสิ่งแวดล้อมโซมาเลีย กล่าวว่า ประชาชนเริ่มเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นทุกปี และเมื่อเข้าใจ ก็จะหาทางแก้ไขได้
แม้ทางข้างหน้าจะยังเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่โซมาเลียกำลังก้าวเดินด้วยความหวัง สู่เป้าหมายในการสร้างประเทศที่ยืดหยุ่นต่อวิกฤตภูมิอากาศ และไม่ทิ้งประชาชนคนใดไว้เบื้องหลัง