รีเซต

กองทัพเรือสหรัฐฯ โชว์ “เรือตั้งได้” เปลี่ยนจากแนวนอนเป็นแนวตั้ง ใช้สำรวจมหาสมุทร

กองทัพเรือสหรัฐฯ โชว์ “เรือตั้งได้” เปลี่ยนจากแนวนอนเป็นแนวตั้ง ใช้สำรวจมหาสมุทร
TNN ช่อง16
1 พฤศจิกายน 2567 ( 12:53 )
21
กองทัพเรือสหรัฐฯ โชว์ “เรือตั้งได้” เปลี่ยนจากแนวนอนเป็นแนวตั้ง ใช้สำรวจมหาสมุทร

ในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา มีเรือที่มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์อย่าง ฟลิบ (Flip) ซึ่งสามารถเปลี่ยนจากการลอยตัวในแนวนอนแบบเรือทั่วไป ให้เป็นแนวตั้งที่ดูแล้วคล้ายกับเรือที่กำลังจม โดยเรือลำนี้ กำลังจะรอดพ้นจากการปลดประจำการ และถูกทิ้งให้กลายเป็นเศษเหล็ก ด้วยการนำไปใช้ทำหน้าที่ใหม่ เป็นเรือสำรวจวิจัยมหาสมุทรให้กับบริษัทจากประเทศอังกฤษ 


ฟลิบ (Flip) ย่อมาจาก Floating Instrument Platform หรือแพลตฟอร์มเครื่องมือลอยน้ำ ดังนั้นในบางที่ จึงมีการเรียกแพลตฟอร์มแห่งนี้ว่าเป็นทุ่นลอยน้ำ หรือเป็นอุปกรณ์ทางสมุทรศาสตร์เฉพาะทางประเภทหนึ่ง ที่สร้างขึ้นสำหรับกองทัพเรือสหรัฐฯ ในปี 1962 เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับคลื่นเสียง 


ตัวเรือมีความยาว 108 เมตร และสามารถปรับให้มันตั้งขึ้นได้ภายใน 30 นาที เพื่อจมตัวเรือบางส่วนในแนวตั้งได้มากกว่า 90 เมตร จากการปล่อยน้ำทะเลเข้าในถังภายในตัวเรือ ซึ่งจะใช้น้ำประมาณ 600 ตัน และถ้าต้องการกลับมาอยู่ในแนวนอนอีกครั้ง ก็จะใช้กระบวนการอัดอากาศไล่น้ำออก 


เมื่ออยู่ในแนวตั้ง เรือยังสามารถรักษาเสถียรภาพได้ดี แม้ในทะเลที่มีคลื่นลมแรง ทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสำหรับการศึกษาพลวัตของคลื่น การแพร่กระจายของเสียง และสมุทรศาสตร์ โดยเรือลำนี้ถูกปลดประจำการเมื่อปีที่แล้ว แต่ก่อนที่จะถูกทำลาย บริษัทวิศวกรรมมหาสมุทรในอังกฤษชื่อ ดีป (DEEP) ได้นำเรือลำนี้ไปที่ยุโรป เพื่อปรับแต่งให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ในการสำรวจมหาสมุทร


สำหรับดีป (DEEP) เป็นบริษัทเทคโนโลยีและการสำรวจมหาสมุทรที่มีภารกิจในการทำให้การสำรวจมหาสมุทร สามารถทำได้แพร่หลายมากขึ้น โดยหนึ่งในผลงานเด่นของบริษัท ที่ได้เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ คือ “เซนทิเนล” (Sentinel) ซึ่งเป็นระบบสถาปัตยกรรมแบบแคปซูล พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบโมดูลาร์ ช่วยให้ประหยัดเวลา ปรับแต่งได้ความต้องการใช้งาน


บริษัทระบุว่าการออกแบบโครงสร้างที่อยู่อาศัยนี้ จะเอื้อให้ผู้ใช้งาน สามารถอาศัยอยู่ใต้น้ํา ที่ระดับความลึกสูงสุด 200 เมตร นานถึง 28 วันในแต่ละรอบซึ่งจะช่วยให้พวกเขาทำการศึกษาใต้ทะเลได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาขึ้น - ลง บ่อย ๆ ช่วยให้การวิจัยทดลองใต้น้ำ ทำได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น 


ข้อมูลจาก reutersconnectdeep

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง