‘เฟทโก้’ ชี้รัฐเก็บภาษีหุ้นฉุดเม็ดเงินซื้อขายเหลือ 5 หมื่นลบ.ต่อวัน กระทบภาคศก.แท้จริงหนีจากไทย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2565 ทิศทางขณะนี้เชื่อมั่นว่า ผลงานจะดีกว่า (Outperfrom) เมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่จะทยอยกลับมาเติบโตขึ้น หลังจากรัฐบาลเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาผ่านเทสต์ แอนด์ โกได้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับขึ้นมาแน่นอน แต่ไม่ได้สูงมากเท่าต่างประเทศ และน่าจะสามารถปรับลดลงมาได้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปได้ รวมถึงนโยบายการคลัง ที่มีช่องว่างยังสามารถใช้เงินได้ อาทิ การมีโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าธรรมชาติ แม้มีความเสี่ยงในการฉีดวัคซีน และความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่เชื่อว่านักลงทุนมีความคุ้นเคยความเสี่ยงของการเมืองไทยอยู่แล้ว เพราะมีในทุกยุคทุกสมัย แต่มองในเชิงบวกเล็กน้อยคือ ในช่วงปีที่เกิดการเลือกตั้ง เศรษฐกิจจะมีความคึกคักมากขึ้น เพราะจะเกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้ง จึงยังไม่เปลี่ยนมุมมอง และคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยสูงสุดไว้ที่ระดับ 1,800 จุด ซึ่งน่าจะเห็นได้ในช่วงครึ่งปี 2565
“การที่หุ้นไทยจะขึ้นไปได้ถึงระดับ 1,800 จุด อยู่ภายใต้เงื่อนไขนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น และรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ถึง 4% รวมถึงเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เข้ามาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 ถึงปัจจุบันประมาณ 2 เดือนกว่า มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เห็นเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นบ้าง สะท้อนว่า ต่างชาติเริ่มเห็นตลาดหุ้นไทยเป็นหลุมหลบภัยที่ดี เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ในแง่ความร้อนแรงทางการเมือง จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเท่าใดนั้น ตลาดหุ้นคงไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร หากอยู่ในขอบเขตที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว แม้เกิดการยุบสภาในปี 2565 จริง และเกิดการเลือกตั้งใหม่ เพราะตอนการเลือกตั้งรัฐบาลนี้เข้ามาใหม่ ก็มีเสียงปริ่มน้ำมาก แต่ยังอยู่มาได้ ทำให้น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเข้าพบกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอผลการศึกษาการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้รับฟังผลกระทบต่อสภาพคล่องที่จะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญที่นำเสนอไป ซึ่งยืนยันว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา จึงยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนออกมา โดยสมาคมฯ ได้ศึกษาผลของมาตรการดังกล่าว คือ 1.ประเมินสภาพคล่องของตลาดทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า มีโอกาสลดลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากเมื่อกลไกนโยบายการเงินทั่วโลก เข้าสู่ภาวะเข้มงวดมากขึ้น สภาพคล่องในตลาดทุนมักถูกกระทบร่วมด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นแล้วว่า ปี 2564 มูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) เฉลี่ยอยู่ที่ 93,000 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันลดลงเหลือเฉลี่ย 60,000-80,000 ล้านบาทต่อวัน 2.หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้น จะทำให้ต้นทุนในการลงทุนของนักลงทุนทุกประเภทสูงขึ้นอย่างนัยสำคัญ โดยประมาณการณ์ว่าจะสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 70% หรือ 0.7 เท่า ซึ่งหากคิดเพียงนักลงทุนต่างประเทศ ที่เข้ามาเพิ่มสภาพคล่องให้นั้น จะมีต้นทุนสูงขึ้นประมาณ 1.7 เท่า หรือ 170% ทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน เพราะอาจทำให้นักลงทุนเหล่านี้ไม่เข้ามาลงทุนในประเทศ
“จากผลการศึกษาทั้งหมดแล้วก็คาดว่าจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดทุนหดตัวราว 40% หรือมีวอลุ่มเทรดลดลงเหลือเพียง 50,000 ล้านบาทต่อวัน พิจารณาจากค่าเฉลี่ยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 80,000 ล้านบาทต่อวัน ทำให้หากสภาพคล่องต่อวันลดลง ตลาดหุ้นไทยก็จะมีความน่าสนใจลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่า หากมองในระยะยาวตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้มีจุดขายมากนัก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ทำให้ต้องมีการพัฒนาอีกมากและสร้างจุดขาย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามา อาทิ การดึงบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มากขึ้น และมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตราสารอีกหลายประเภท ทำให้เรายังจำเป็นต้องใช้กลไกของตลาดทุนในการสร้างสภาพคล่องให้ยังมีอยู่ ทำให้หากไปเพิ่มต้นทุนในการลงทุนให้ผู้สร้างสภาพคล่อง หรือผู้เล่นในตลาดฯ และทำให้สภาพคล่องหดหาย ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคการระดมทุน หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา เพราะอาจได้เม็ดเงินไม่สูงเท่าที่ควรจะได้รับ และราคาหุ้นที่ดีเหมือนในช่วงที่มีสภาพคล่องสูง เนื่องจากสภาพคล่องคือหัวใจของการลงทุน และการระดมทุน รวมถึงการพัฒนาตราสารใหม่ๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในระยะยาว” นายไพบูลย์ กล่าว
“หากเรารักษาสภาพคล่องเอาไว้ และช่วยกันเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงช่วยให้บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กันมากขึ้น ท้ายสุดประเทศชาติจะได้ประโยชน์ จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าการเก็บภาษีหุ้น เพราะสิ่งที่ตลาดหุ้นจะช่วยได้มากที่สุด คือ การทำให้รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยมีการศึกษาอย่างชัดเจนแล้วว่า บริษัทที่ก่อนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเทียบกันแล้วพบว่า ภาษีที่จ่าย 3 ปีก่อนและ 3 ปีหลัง เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะนอกจากกลไกความโปร่งใสของตลาด ยังมีแรงกดดันต่างๆ ให้บริษัทใหญ่เติบโต ซึ่งผลที่ได้ก็อยู่กับภาครัฐ โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากมีการเก็บภาษีหุ้น จะส่งผลให้บริษัทลงทุนต่างชาติหนีไปลงทุนในประเทศอื่นที่มูลค่า (แวลูเอชั่น) มีสภาพคล่องมากกว่า โดยเฉพาะตลาดที่เราหมายปองไว้ จำพวกบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้มีลู่ทางในการลงทุนต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อประเทศไทย” นายไพบูลย์ กล่าว