รีเซต

นักลงทุนระส่ำ! ผวาขุนคลังรีดภาษีขายหุ้น

นักลงทุนระส่ำ!  ผวาขุนคลังรีดภาษีขายหุ้น
TNN ช่อง16
20 มิถุนายน 2565 ( 19:36 )
106
นักลงทุนระส่ำ!  ผวาขุนคลังรีดภาษีขายหุ้น

ตลาดทุนกลับมาสั่นสะเทือนอีกครั้ง หลังจาก "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คลังเดินหน้าเก็บภาษีการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax โดยจะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติในเร็ววันนี้ เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎี ประกาศบังคับใช้ต่อไป พร้อมกำหนดระยะเวลา Grace period ไม่เกิน 90 วัน  เพื่อให้โบรกเกอร์ต่างๆในการทำระบบข้อมูลและการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร หลังจากที่ยกเว้นการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 34 


ทันที่ขุนคลังส่งสัญญาณ จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ของมูลค่าขายตั้งแต่บาทแรกนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่อนข้อมูลออกมาชี้แจงว่ายังมี 4  ปัจจัยที่รัฐควรพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาการตัดสินใจอย่างรอบคอบประกอบด้วย


1.อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% (ภาษีขายหุ้น) ที่จะเรียกเก็บไม่เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน เนื่องจากเป็นอัตราที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5%


 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราภาษี 0.1% แล้วเป็นอัตราส่วน 5 : 1 เท่า ในขณะที่ปัจจุบันการแข่งขันของ ผู้ประกอบกิจการรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อัตราค่าคอมมิชชั่นโดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมลดลงเหลือเพียง 0.08% เท่านั้น


ดังนั้น หากภาครัฐยังจัดเก็บภาษีขายหุ้นที่ระดับ 0.1% รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% คิดเป็น 0.11% จะทำให้อัตราส่วนระหว่างค่าคอมมิชชั่นและภาษีจะกลับเป็น 0.7 : 1 เท่า


ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายได้ในการให้บริการการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าภาษีธุรกิจเฉพาะเสียอีกส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ลงทุนที่สูงขึ้นเกินเท่าตัวและจะกระทบต่อสภาพคล่องและการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งกลุ่มรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ฯและลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนต่าง ๆ และผู้ลงทุนต่างประเทศ


2.ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ของภาคธุรกิจจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดหดตัวจากต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น 1 เท่าตัว ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่สามารถกลับมาขับเคลื่อนได้เต็มที่เหมือนช่วงก่อนโควิด จะกระทบให้บริษัทจดทะเบียนต้องชะลอหรือลดการลงทุนทางธุรกิจ และกระทบต่อการจ้างงาน และ GDP ของประเทศในท้ายที่สุด


3.เกิดต้นทุนภาษีซ้ำซ้อน (double taxation) สำหรับธุรกรรมการพัฒนาสินค้าตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ ETF, Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องจ่ายภาษีขายทั้งตัวสินค้าที่ ผู้ให้บริการไม่ว่าจะเป็น บล. หรือ บลจ. ดูแล และเมื่อต้องขายหลักทรัพย์อ้างอิงในการสร้างสินค้าและดูแลสภาพคล่องของสินค้านั้น ๆ การเก็บภาษีจะจำกัดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน โอกาสของผู้ให้บริการและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลกได้


ทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บภาษี ควรยกเว้นให้แก่กลุ่มผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) และกลุ่มกองทุนรวม/กองทุนบำนาญ/กองทุนสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ


4.การประกาศใช้ภาษีขายหุ้น ควรแจ้งล่วงหน้า ในช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมความพร้อมและปรับตัวทั้งจากต้นทุนที่สูงขึ้นและจากภาวะตลาดทุนและดัชนีหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงมากในปีนี้ที่มีผลมาจากทั้งสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ปัญหาโควิดที่ยืดเยื้อ และภาวะสงครามระหว่างประเทศที่กดดันอุปทานของสินค้าสำคัญต่าง ๆ


ด้านบล.เอเซียพลัสระบุในบทวิเคราะห์ว่า หากภาครัฐกลับจัดเก็บภาษีจริง คาดว่าจะส่งให้รัฐมีรายได้เพิ่ม แต่กระทบตลาดฯ ดังนี้ 1. รายได้รัฐจะเพิ่มปีละประมาณ 1- 2 หมื่นล้านบาท (ถ้ามูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับใกล้เคียงอดีต) คือ ในปีปัจจุบันนักลงทุนประเภท Active มีการซื้อ

ขายหุ้นเฉลี่ยราว 2-3 ล้านบาท/เดือน หากรัฐเรียกเก็บภาษีนักลงทุนที่มีการขายหุ้นเกิน 1 ล้านบาท/เดือน แสดงว่านักลงทุนประเภท Active ส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษี

 

 

ทั้งนี้ในเบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ในปี 2565 ตลาดฯมีมูลค่าซื้อขาย (คิดขาเดียว) รวม 8.6 ล้านล้านบาท (ytd) เมื่อคูณอัตราภาษี0.1% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 8.6 พันล้านบาท (ถ้าทำเป็นทั้งปีก็สูงเกิน1.97 หมื่นล้านบาท) และหากพิจารณาจากมูลค่าซื้อขายในอดีต พบว่า ส่วนใหญ่แล้วรัฐจะได้รายได้เพิ่มเกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี


2. ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากผลตอบแทนของการTrading ลดลง จาก Transaction cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจากนักเก็งกำไร รวมถึงอาจเป็นข้อจำกัดในการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ และการระดมทุนในอนาคต


3. มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง


ฝั่ง"กอบศักดิ์ ภูตระกูล"  กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(เฟทโก้) ได้ออกโรงคัดค้านในเรื่องนี้ โดยมองว่าการเก็บภาษีดังกล่าวจะกระทบต่อสภาพคล่องของตลาด ที่มีนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคน ที่ลงทุนทางตรงในตลาดหุ้นไทย และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่าง ๆดังนั้นผลเสียจึงจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้ว 


การรีดภาษีการขายหุ้นเพื่อสมานแผลถังแตก แม้จะทำให้รัฐมีรายได้กลับเข้ามาให้ใจชื้นได้บ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤติจากผลกระทบโควิดเปรียบเหมือนคน ที่เพิ่งจะสร่างไข้ และในอนาคตยังมีปัจจัยเสี่ยงในตลาดโลกที่ควบคุมไม่ได้และไม่รู้ว่าจะประทุขึ้นอีกเมื่อไร  ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อ สินค้าแพง ราคาน้ำมันพุ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องมาถูกซ้ำเติมจากข่าวร้ายขึ้นภาษีขายหุ้นในประเทศอีก ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นจากไข้อาจโคม่าต้องหามเข้าไปห้องไอซียูอีกก็เป็นได้ .....

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง