รีเซต

'ตลท.’ แจงภาษีหุ้นต้องรอ ‘คลัง’ ตอบ ชี้ดอกเบี้ยดีดตัวกระทบหุ้นไทยจำกัด

'ตลท.’ แจงภาษีหุ้นต้องรอ ‘คลัง’ ตอบ ชี้ดอกเบี้ยดีดตัวกระทบหุ้นไทยจำกัด
มติชน
8 กุมภาพันธ์ 2565 ( 16:32 )
43
'ตลท.’ แจงภาษีหุ้นต้องรอ ‘คลัง’ ตอบ ชี้ดอกเบี้ยดีดตัวกระทบหุ้นไทยจำกัด

ข่าววันนี้ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย มีปัจจัยลบเข้ามาเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้สภาพคล่องน่าจะลดลง มีผลต่อการซื้อขายของนักลงทุนบางกลุ่ม ที่ใช้สภาพคล่องส่วนเกินมาลงทุน ซึ่งตรงนี้อาจมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น โดยหากดอกเบี้ยปรับขึ้นแต่ไม่มากก็จะกระทบจะไม่มาก และสามารถชดเชยจากการที่เรามีนักลงทุนเพิ่มขึ้น แต่เท่าที่ประเมินภาพในช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มองว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะได้รับผลกระทบน้อย ซึ่งก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

นายภากร กล่าวว่า ส่วนประเด็นเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) นั้น ขณะนี้ต้องติดตามความคืบหน้าจากกระทรวงการคลัง เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น รวมถึงจากการที่ภาคเอกชนนำเสนอข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากเก็บภาษีหุ้นจริง โดยคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะมีสภาพคล่องลดลงกว่า 40% หรือเหลือมูลค่าการซื้อขายต่อวันเพียง 50,000 ล้านบาท จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 ล้านบาทต่อวัน ประเมินจากการซื้อขายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการหารือหรือนำเสนอข้อมูลต่อกระทรวงการคลังเพิ่มเติมหรือไม่นั้น เบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชน และนำเสนอข้อมูลทั้งหมดมาโดยตลอดแล้ว

 

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 ดัชนีหุ้นไทย ปิดที่ระดับ 1,648.81 จุด ลดลง 0.5% ถือว่าเคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัวเทียบจากสิ้นเดือนธันวาคม 2564 และเป็นการปรับลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ โดยได้แรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวได้ดีกว่าภาพรวม เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มบริการ โดยสถานการณ์โควิด-19 ของไทยในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อค่อนข้างจำกัด และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อ เนื่องจากภาคการส่งออกที่ขยายตัว ภาคบริการและการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมืองในอนาคต ทำให้เห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งถือว่าไหลเข้าตลาดหุ้นไทยสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน โดยเดือนมกราคม 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 14,234 ล้านบาท

 

“ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในปี 2564 เห็นนักลงทุนกลุ่มบุคคลทั่วไป เข้ามามีส่วนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่อนข้างมาก มีการเปิดบัญชีใหม่ 1.6 ล้านบัญชี ทำให้ปัจจุบันมีบัญชีซื้อขายทั้งหมดถึง 5 ล้านบัญชี ซึ่งเกือบ 40% คือเปิดใหม่ภายใน 1 ปีเท่านั้น และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนบุคคลที่เปิดบัญชีใหม่ จะเป็นเจนวาย ประมาณ 60% ของบัญชีเปิดใหม่ โดยพบว่าบัญชีที่เปิดใหม่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นการเปิดบัญชีเพื่อรับหุ้นที่มีการซื้อขายกระจายมากๆ ในช่วงเดียวเท่านั้น ซึ่งมองว่าประเด็นดอกเบี้ยต่ำ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปเข้ามาลงทุนในหุ้นมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวที่สนับสนุนเท่านั้น เพราะจากที่มีนักลงทุนเข้ามาเรียนรู้หลักสูตรการสอนออนไลน์มากขึ้นกว่า 127% จึงเชื่อว่าจะอยู่ยาวแน่นอน รวมถึงการที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายมากขึ้น มองว่าเป็นการช่วยหนุนให้ทั้ง 2 ฝั่งมีการซื้อขายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า” นายศรพล กล่าว

 

นายศรพล กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2565 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดเอ็มเอไอ อยู่ที่ 94,382 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย เทียบจากเดือนมกราคม 2564 แต่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 22.1% เทียบจากเดือนธันวาคม 2565 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดต่อเนื่อง ซึ่งเฉพาะในเดือนมกราคม 2565 คิดเป็น 44.57% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 43.33% โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรย้อนหลัง (Historical P/E ratio) อยู่ที่ 14.85 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค และต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี แสดงถึงระดับราคาที่มีความน่าสนใจหากเทียบกับผลกำไรของบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

 

รวมถึงตลาดหุ้นไทยมีกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น (Forward P/E) ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 17.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 14.9 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 2.66% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.37% นอกจากนี้ มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2 บริษัท ได้แก่ บมจ. ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) และ บมจ. เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส (TKC)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง