เฟทโก้ ชี้ครึ่งปีหลัง 65 หุ้นไทยแตะ 1,800 จุดได้แน่ แนะติดตามภาวะศก.ถดถอย
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่สูงกว่าระยะยาวนั้น ต้องประเมินว่าจะอยู่ยาวนานมากน้อยเท่าใด เนื่องจากในอดีตถือเป็นภาพที่อาจทำให้เห็นเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) แต่ไม่ได้เกิดเร็วมากนัก ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1-2 ปี และไม่ใช่ทุกครั้งที่ต้องเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วย โดยจะชัดเจนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่นั้น ภาวะอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่สูงกว่าระยะยาวจะต้องอยู่อย่างน้อย 3 เดือน ทำให้ต้องติดตามภาวะดังกล่าวต่อไป ว่าจะยาวนานมากน้อยอย่างไร โดยความน่าสนใจคือ ก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ไม่ได้หมายความว่า ตลาดหุ้นจะตกลง แต่อาจอยู่ในขาขึ้นด้วย ทำให้ตลาดหุ้นไม่ได้เปลี่ยนทิศในระยะสั้น ช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า โดยในปี 2565 เชื่อว่าตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้นทั่วโลก แม้ตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้วอาจไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก เพราะที่ผ่านมาขึ้นไปมากแล้ว
รวมถึงดอกเบี้ยเริ่มขึ้น และเศรษฐกิจทยอยชะลอการเติบโต เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาโตขึ้นมากแล้ว แต่เศรษฐกิจของไทยอยู่ในลักษณะกำลังฟื้นตัว จึงได้อานิสงส์จากวัฎจักรของเศรษฐกิจที่อยู่ในขาขึ้น ทำให้เม็ดเงินต่างชาติ (ฟันด์โฟว์) ไหลเข้ามา ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ไปก็จะยังเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงเป้าหมายดัชนีสูงสุดไว้ที่ 1,800 จุด และคาดว่าในครึ่งหลังของปี 2565 จะได้เห็นแน่นอน โดยหากจะไปถึง 1,800 จุดได้ ต้องมีแรงช่วยในแง่การปรับประมาณการของนักวิเคราะห์ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ และสถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มดีขึ้น ทำให้ทุกคนเป็นห่วงเรื่องเงินเฟ้อน้อยลง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย ลงมาที่ 3.09% จากการสำรวจในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 3.71% ซึ่งเป็นผลจากการมีปัจจัยความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิ-19 สายพันธุ์โอมิครอน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง เศรษฐกิจโลกชะลอลงจากเดิม โดยมองว่าจีดีพีที่จะเติบโต 3.09% ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ และมีโอกาสที่จะได้รับการปรับคาดการณ์ขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีขึ้น และปี 2565 มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่า 4% ขึ้นไป หากภาคการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 130% ของของจีดีพี ซึ่งสูงมาก และสามารถต่อยอดไปได้อีก จึงอยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อเป็นแหล่งช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในช่วงยกร่างแผนพัฒนาตลาดทุนฉบับ 4 ด้วย ในส่วนที่กระทรวงการคลังเลื่อนการจัดเก็บภาษีจาการซื้อขายหุ้นนั้น มองว่าไม่ได้เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เพราะตอนที่มีการเปิดเผยแนวคิดนี้ออกมาก็ไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นปรับลงไปมากนัก แต่ถือเป็นบวกต่อทิศทางการพัฒนาตลาดหุ้นในระยะยาว เนื่องจากทำให้รักษาความสามารถแข่งขันกับตลาดหุ้นในภูมิภาคได้ ขณะที่ช่วงนี้ควรใช้ประโยชน์ตลาดทุนให้เต็มที่จากช่วงที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาค่อนข้างมาก
“ทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 2/2565 ยังไม่ได้ปรับขึ้นมากมายนัก อาจอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว เนื่องจากหลายเหตุการณ์ยังไม่คลี่คลายชัดเจน และตลาดหุ้นก็ปรับขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว อยู่ประมาณเกือบ 1,700 จุด และขณะนี้ก็ขึ้นมาที่ระดับเดิมแล้ว ทำให้ภาวะสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียไม่ได้กระทบตลาดหุ้นไทยมากนัก แต่แรงส่งในไตรมาส 2 ก็ยังไม่ได้มีมากเท่าที่ควร ซึ่งหากสถานการณ์รัสเซียและยูเครนดีขึ้น ราคาน้ำมันปรับลดลงมาเฉลี่ยที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจทำให้คนกังวลเรื่องเงินเฟ้อน้อยลง รัฐบาลจะสามารถนำงบประมาณมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าการต้องมาประคองราคาสินค้าต่างๆ ไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งถือเป็นข่าวดี” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในเดือนมีนาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 117.92 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.3% จากเดือนกุมภาพันธ์ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยนักลงทุนมองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/2565 จะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือความคาดหวังต่อการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การไหลเข้าของเงินทุน ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่าง รัสเซียและยูเครน นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ