เอกชนชี้ศก.ครึ่งปีหลังเสี่ยงถดถอยสูง ทุบจีดีพีปี 64 โต 0.6% แนะรัฐอัดฉีดวัคซีน-เร่งใช้งบ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังนี้ ประเมินว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงมาก โดยคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ครึ่งปีหลังจะติดลบ 0.4% แต่ทั้งปี 2564 จีดีพียังสามารถบวกได้ที่ 0.6% เพราะคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 จะบวกได้ 6-7% จากฐานที่ต่ำมากๆ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับครึ่งปีแรกการส่งออกสามารถเติบโตได้ดี แต่ครึ่งปีหลังคาดว่าจะไม่ได้ดีเท่าเดิมแล้ว รวมถึงการระบาดโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานขึ้น และเพิ่มเป็น 29 จังหวัด ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งการฉีดวัคซีนในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา ยังเห็นบางวันฉีดได้แค่หลัก 7-8 หมื่นคนเท่านั้น ส่วนบางวันก็เห็นฉีดได้หลัก 4 แสนคน โดยมองว่าหากสามารถบริหารให้ฉีดวันซีนในหลัก 4-5 แสนคนต่อวันได้ จะสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากมองในแง่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายภาครัฐ ให้น้ำหนักประเด็นสำคัญที่สุดคือ นโยบายของภาครัฐ เนื่องจากเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย โดยมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ยังทำช้าและน้อยไป เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤตมากๆ แล้ว รวมถึงมาตรการที่ออกมายังเป็นรูปแบบเดิม และเม็ดเงินไม่มากนัก จึงมองว่ามีความจำเป็นสูงมากที่ภาครัฐจะต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นที่แน่นอนว่าต้องใช้เงิน เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ตอนนี้มองว่าควรต้องเอาเศรษฐกิจให้อยู่ก่อน โดยเฉพาะการใช้งบประมาณจากเงินกู้ ที่ต้องหาวิธีทำให้กระบวนการในการเบิกจ่ายสั้นลง เพื่อให้เงินกระจายเข้าระบบเร็วและมากที่สุด รวมถึงหากสามารถขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เตรียมไว้ เพื่อรองรับกรณีที่อาจจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีก นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในระยะต่อไปด้วย อาทิ การปรับปรุงถนน ห้องน้ำสาธารณะ และการสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่
“สิ่งสำคัญที่อยากเห็นคือ หลังคุมการระบาดได้ และปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์แล้ว จะต้องทำให้กำลังซื้อกลับมาทันที เพื่อให้เศรษฐกิจขยับได้ โดยรัฐบาลต้องคิดหามาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ ตั้งรอไว้ตั้งแต่ตอนนี้ บวกกับการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ โดยรูปแบบมาตรการที่ควรทำคือ การสนับสนุนให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานไว้ได้ เพื่อต่อลมหายใจให้ภาคธุรกิจ และทำให้ลูกจ้างไม่ถูกเลิกจ้าง รวมถึงการกระตุ้นให้กลุ่มคนที่ไม่ได้ประสบปัญหาจากโควิดมากนัก ดึงให้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น มีขนาดของมาตคการกระตุ้นที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมาเร็วที่สุด ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ ทั้งม็อบและการคอลเอ้าท์ของศิลปินดารา มองว่าเป็น ความเสี่ยงทางการเมืองที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากนัก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมามาต่อเนื่องสักระยะหนึ่งแล้ว และไม่ได้เป็นปัจจัยใหม่ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าผลกระทบจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทิศทางเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ประเมินว่า 1-2 เดือนนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะไหลเข้ามา สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นอกจากเงินนอกจะไม่ไหลเข้าแล้ว เงินในยังไหลออกด้วย เพราะนักลงทุนในประเทศหันซื้อกองทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยกองทุนรวมต่างประเทศ ตัวเลขมูลค่าอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงสุดเท่าที่เคยมีมาโดยเฉพาะกองทุนที่เป็นตราสารหุ้นต่างประเทศในช่วงปลายปี 2562 มีมูลค่า อยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท แต่ล่าสุดพบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นที่ 5.8 แสนล้านบาท โดยหากรัฐบาลสามารถออกมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถโตผงกหัวขึ้นได้ โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีน คาดว่าในไตรมาส 4/2564 ยังมีโอกาสเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้าตลาดทุนไทยได้ และเม็ดเงินในประเทศไม่ไหลออกเพิ่มขึ้น ซึ่งหากจีดีพีไทยโต 0.6-1% ในปี 2564 ถือว่าประเทศไทยจะเติบโตเป็นอันดับท้ายๆ ของโลก เพราะหลายประเทศไปไกลกว่าเรามากแล้ว