รีเซต

เฟทโก้ส่อง ศก.ไทยปีเสือ ลุ้นฝ่าโอมิครอน

เฟทโก้ส่อง ศก.ไทยปีเสือ  ลุ้นฝ่าโอมิครอน
มติชน
29 ธันวาคม 2564 ( 09:11 )
46
เฟทโก้ส่อง ศก.ไทยปีเสือ  ลุ้นฝ่าโอมิครอน

หมายเหตุมติชนสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มขยายวงกว้างทั่วทั้งโลก ตลอดจนแนวโน้มการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่

 

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2564 ภาพการเคลื่อนไหวของตลาดใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ มีเพียงปัจจัยกระทบในเรื่องการระบาดโควิด-19 ที่แพร่ระบาดหลายรอบมากกว่าที่คาดไว้เริ่มตั้งแต่เชื้อสายพันธุ์เดลต้า จนถึงสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนในขณะนี้ ซึ่งความรุนแรงแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ผลกระทบใกล้เคียงกับที่มองไว้

 

ภาพปี 2565 มองว่าตลาดหุ้นไทยเป็นทิศทางขาขึ้น และมีโอกาสปรับขึ้นได้ดีมากกว่า (เอาต์เพอร์ฟอร์ม) หากเทียบกับตลาดหุ้นโลก เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถือว่าปรับขึ้นน้อยกว่า (อันเดอร์เพอร์ฟอร์ม) ภาพรวมตลาดมาตลอด หลังจากเกิดวิกฤตการระบาดโควิด-19ซึ่งหลักๆ เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวประเทศไทยค่อนข้างมาก ทำให้การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าสุดเป็นปัญหาอยู่ แต่ในปีหน้าเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เด่นชัดมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดขายของประเทศไทยในแง่ตลาดหุ้นบ้านเรา เพราะหมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์ในการฟื้นตัว

 

โดยปี 2564 พบว่าเศรษฐกิจไทยแทบเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว หากเทียบกับปี 2563 ซึ่งคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ไม่ถึง 1% ขณะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะโตประมาณ 5% ซึ่งถือว่าค่อนข้างอันเดอร์เพอร์ฟอร์มมากๆ ในแง่เศรษฐกิจ เหตุผลก็เป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยพึ่งพารายได้สูง แต่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ แต่ปีหน้าหากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แม้การระบาดโควิด-19 จะมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่หากความรุนแรงและผลกระทบไม่ได้นำไปถึงขั้นสร้างความตื่นตระหนก จนถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่เกิดขึ้น รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดได้เพิ่มมากขึ้น และพบการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลในการระงับยับยั้งการระบาดโควิดได้ดีกว่าเดิม โดยภาพของวัคซีนน่าจะทำให้ทุกอย่างดูดีขึ้นมาก จึงไม่ได้มองว่าโควิดคงไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความรุนแรงมากนักในปีหน้า

 

ส่วนภาพของประเทศไทย มีเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่สามารถควบคุมได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่มีปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในขณะนี้ อาทิ สหรัฐ ซึ่งการเกิดภาวะเงินเฟ้อหมายความว่าจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมและบริหารจัดการภาวะเงินเฟ้อให้ได้ แต่ประเทศไทยเนื่องจากเราไม่มีภาวะเงินเฟ้อ ทำให้จะสามารถใช้ดอกเบี้ยในระดับเดิมได้ โดยเชื่อว่าในปีหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเราคุมอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดขายของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากปีหน้ายังเป็นปีที่ความกังวลเงินเฟ้อคงอยู่

 

สำหรับกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย เชื่อว่าจะเติบโตได้ประมาณ 10-12% จากการประเมินเบื้องต้น ซึ่งหมายความว่าอัพไซซ์ของตลาดหุ้นไทยก็น่าจะปรับขึ้นได้ประมาณ 10-12%เช่นกัน โดยคำนวณเป็นดัชนีหุ้นไทยเบื้องต้นจะอยู่ที่ 1,800 จุด หากทุกอย่างเป็นไปตามคาด เราสามารถเปิดประเทศได้อย่างต่อเนื่อง การระบาดโควิดในทุกสายพันธุ์ไม่รุนแรงมากถึงขั้นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ เชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามา ทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งภาพทุกอย่างจะปรับตัวดีขึ้น

 

ในด้านเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) มีโอกาสไหลเข้าประเทศไทยและเติบโตขึ้นได้ เนื่องจากปี 2565 เป็นปีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะหยุดทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยตามทันที ทำให้นักลงทุนต่างชาติจะต้องเลือกคัดสรรการจัดพอร์ตให้รัดกุมมากขึ้น โดยจะต้องเน้นมองในตลาดที่มีจุดขาย และตลาดที่ยังสามารถมีอัพไซซ์ได้ ซึ่งตลาดหุ้นไทยน่าจะเป็นหนึ่งในตลาดที่ต่างชาติมอง เพราะมีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยว และยังอัพไซซ์ได้อีก เนื่องจากหุ้นไทยยังไม่ปรับขึ้นมากมาย เมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดโควิด ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นไปแล้วกว่า 40% จากระดับก่อนเกิดโควิด โดยมองว่าฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ มีโอกาสไหลเข้ามาในสถานะซื้อสุทธิได้เป็นครั้งแรกในรอบ 6-7 ปี แต่อยู่บนสมมุติฐานคือ การระบาดโควิดจะต้องไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงมากๆ เกิดขึ้นอีก

 

ปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดหลักๆ เป็นเรื่องการระบาดโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ และภาวะเงินเฟ้อโลก ที่หากพุ่งขึ้นแบบไม่หยุด เพราะปัญหาซัพพลายเชน ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจทำให้ดอกเบี้ยต้องปรับขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หรือธนาคารกลางสหรัฐจะต้องใช้มาตรการที่รัดกุมและเข้มงวดมากกว่าคาด ตรงนี้จะมีผลกระทบกับตลาดและภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนปัจจัยเสี่ยงเฉพาะในประเทศไทย เป็นเรื่องการท่องเที่ยว ที่แม้ประเมินไว้ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะฟื้นได้มากน้อยเท่าใด

 

รวมทั้งการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2565 ซึ่งจากสถิติทุกครั้งที่เกิดการเลือกตั้ง ปกติจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะคึกคักมากพอสมควร และรัฐบาลมีแนวโน้มในการประตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งหากประเมินข้อมูลในอดีตจากการเลือกตั้ง 10 ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงการเลือกตั้งตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้น 3 เดือนก่อนเลือกตั้ง และปรับขึ้นอีกครั้งใน 6 เดือนหลังจากเลือกตั้งเสร็จแล้ว ทำให้เป็นปัจจัยบวกได้ แต่เน้นย้ำว่ายังมีความเสี่ยงในเรื่องความมีเสถียรภาพที่ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

ในปี 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ประมาณ 4% ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวขึ้นมาในระดับที่ใช้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาได้มากหรือน้อยเท่าใด โดยมองว่าในปีหน้าเรื่องการกระตุ้นการใช้จ่ายคงไม่จำเป็นแล้ว หากเราสามารถเปิดประเทศได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีการล็อกดาวน์แล้ว ความจำเป็นคือ การกระตุ้นการลงทุนในระยะยาว เพื่อสร้างงานในระยะยาว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าเราน่าจะหลุดพ้นจุดของการแจกเงินแล้ว รอบนี้คงเป็นรอบสุดท้าย การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายน่าจะมีความจำเป็นรองลงมา เพราะอยู่ในโหมดของการเปิดประเทศแล้ว จึงอยากให้กลับไปสู่โหมดของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว และการลงทุนในเรื่องที่มีส่วนช่วยจ้างงานในอนาคตมากกว่า

 

สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 135.16 ปรับตัวลดลง 19.9% จากเดือนตุลาคม มาอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง หลังจากเผชิญความเสี่ยงโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มมากขึ้น แต่ยืนยันว่า แนวโน้มหุ้นไทยในปีหน้า ยังเป็นขาขึ้นแน่นอน ย้ำเป้าหมายดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,800 จุด สอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายรายที่คาดไว้ในระดับ 1,750 จุดซึ่งเชื่อว่าตลาดยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากในปีหน้า ประเทศไทยยังมีจุดขายทั้งด้านการท่องเที่ยวฟื้นตัว และเศรษฐกิจที่สามารถเติบโตสูงกว่าศักยภาพได้ หลังจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดย 3 ปัจจัยบวกในประเทศ คือ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าประเทศอื่น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และกำไร บจ.ไทยน่าจะเติบโตได้ในระดับที่น่าพอใจ

 

สำหรับปัจจัยที่นักลงทุนมองว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนมากที่สุดคือ แรงคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการไหลออกของเงินทุนในตลาดไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง