รีเซต

‘เฟทโก้’ ชี้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนยังร้อนแรง แม้ลดลง 4.2% หวัง ศก.ฟื้นตัวเป็นแรงหนุน

‘เฟทโก้’ ชี้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนยังร้อนแรง แม้ลดลง 4.2% หวัง ศก.ฟื้นตัวเป็นแรงหนุน
มติชน
6 มกราคม 2565 ( 15:56 )
59
‘เฟทโก้’ ชี้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนยังร้อนแรง แม้ลดลง 4.2% หวัง ศก.ฟื้นตัวเป็นแรงหนุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 129.53 ปรับตัวลดลง 4.2% จากเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง โดยนักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด ยังเป็นหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)

 

นายไพบูลย์กล่าวว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,588.19-1,657.62 จุด โดยมีปัจจัยในประเทศที่กระทบการเคลื่อนไหวของดัชนี ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกระทรวงการคลังประกาศทบทวนการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax ในอัตรา 0.1% สำหรับมูลค่าธุรกรรมฝั่งขาย โดยดัชนี ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ปิดที่ระดับ 1,657.62 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.7% จากเดือนพฤศจิกายน 2564 และปรับขึ้น 14.4% จากสิ้นปี 2563

 

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า มีปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ สงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา หลังจากสหรัฐ มีการผ่านกฎหมายแบนสินค้าที่บังคับใช้แรงงานจากจีน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ สั่งให้บริษัทจีนเปิดเผยข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐ ส่งผลให้บริษัทจีนมีความเสี่ยงเรื่องการถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐสูงขึ้น ผลจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.1% เป็น 0.25% ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดขนาดของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ถึง 3 ครั้ง ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศลดวงเงินซื้อพันธบัตร พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การรับมือของภาครัฐต่อสถานการณ์ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแทนมาตรการเดิมที่หมดไป และการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง