รีเซต

‘เฟทโก้’ เปิดความเชื่อมั่นนักลงทุนเกาะระดับร้อนแรงต่อ แนะรัฐอัดมาตรการดึงกลุ่มเป๋าหนักใช้เงินเพิ่ม

‘เฟทโก้’ เปิดความเชื่อมั่นนักลงทุนเกาะระดับร้อนแรงต่อ แนะรัฐอัดมาตรการดึงกลุ่มเป๋าหนักใช้เงินเพิ่ม
มติชน
7 มิถุนายน 2564 ( 15:42 )
79

 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 126.40 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ซึ้งเป็นการอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” อย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนคาดหวังถึงแผนการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การระบาดเป็นปัจจัยสนับสนุนมากที่สุด รองลงมาคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเม็ดเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือ สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศ รองลงมาคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญมนขณะนี้ ยังเป็นการระบาดโควิด-19 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนให้น้ำหนักมากนัก แต่เป็นเรื่องการกระจายฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศมากกว่า

 

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2564 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำได้ดีกว่าคาด และการได้ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ที่ค่อนข้างมีแผนการใช้จ่ายเงินที่ไม่ก้าวร้าว ทำให้สภาพคล่องมีมากขึ้น ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์เชิงบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีมากเทียบเท่ากัน เพราะพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวสูง ซึ่งภาคการท่องเที่ยวจะเป็นธุรกิจสุดท้ายที่ฟื้นตัว หลังจากการระบาดโควิดคลายตัว แต่เพราะสภาพคล่องทั่วโลกมีสูงมาก ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกมองความคาดหวังในอนาคตมากกว่า โดยแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังเป็นขาขึ้นอยู่ แต่จำนวนการปรับระดับขึ้นคงไม่ได้มากเท่าช่วงครึ่งปีแรกนี้ เพราะความคาดหวังต่างๆ สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นไปแล้ว ทั้งการกระจายฉีดวัคซีน ความสามารถในการคุมโควิดให้ได้ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

สะท้อนได้จากการปรับขึ้นของดัชนีอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจัยภาพรวมจะไม่ได้เอื้อมากนัก ทำให้ครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงของการทำให้ได้ตามความคาดหวังของตลาด ถือเป็นขั้นตอนการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งหากทำได้จะหนุนให้ดัชนีปรับขึ้นไปได้อีก โดยนักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นจะสามารถขึ้นไปทำจุดสูงสุดได้ที่ 1,650 จุด และยังไม่มีการปรับลดหรือเพิ่มระดับดัชนีอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ความสนใจตอนนี้ลงไปอยู่ที่การระดมฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ให้กับคนไทย 50 ล้านคนในปลายปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วประเทศ ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ และการเปิดภูเก็ตรับต่างชาติ มีความน่าสนใจมากเท่าใด เพราะสามารถสะท้อนภาพความต้องการมาเที่ยวไทยของต่างชาติในการเปิดจริง โดยเราจะได้ประโยชน์สูงสุดในการเปิดประเทศ และคาดว่าปี 2565 ตลาดหุ้นไทยจะเป็นปีที่มีจำนวนการปรับระดับขึ้นไปได้มากกว่านี้

 

 

“ภาคการท่องเที่ยวจากการที่รัฐบาลเลือกเปิดประเทศแบบกำหนดพื้นที่ (แซนด์บ๊อกซ์) ให้ต่างชาติเข้ามา ถือว่าเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เชื่อว่ามาถูกทางแล้ว แต่หากกทม.ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ครบจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเที่ยวแค่ภูเก็ตแล้วกลับประเทศไป เพราะกังวลในการติดเชื้อ ความจำเป็นจึงต้องทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วประเทศให้ได้ ปีนี้จึงเป็นการนำร่องทดลอง ส่วนปี 2565 จะเป็นการเปิดจริง ซึ่งความจริงไม่ได้รีบให้เปิดอยู่แล้ว เพราะหากเร่งเปิดแล้วต่างชาติเข้ามาติดเชื้อกลับไป มีข่าวแพร่ไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์รวมของประเทศแน่นอน โดยสิ่งที่ต้องเร่งรัดมากที่สุดคือ การฉีดวัคซีนให้คนไทย แม้แผนกระจายฉีดวัคซีนอาจขรุกขรักได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าหายไปเลย อาทิ หากกำหนดว่าจะเข้ามา 10 ล้านโดสใน 1 เดือน แต่หายไปเหลือเข้ามาแค่ 5 ล้านโดส แบบนี้ก็ไม่ได้ เพราะหากเกิดภาพแบบนี้ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบด้วยแน่นอน เพราะตอนนี้วัคซีนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด” นายไพบูลย์ กล่าว

 

 

นอกจากนี้ มองว่ามาตรการควรออกกระตุ้นการท่องเที่ยวที่รัฐบาลควรเพิ่มเติม เพราะประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว พึ่งพารายไดจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มโตต่ำสุดในโลก โดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ จะโต 7% ส่วนเศรษฐกิจไทยอาจโตเฉลี่ยที่ 2% ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม หลังจากมีมาตรการเยียวยาออกมามากแล้ว ทั้งการเพิ่มจำนวนการใช้จ่ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคให้กลุ่มคนที่มีศักยภาพออกมาใช้จ่ายมากที่สุด ซึ่งมองว่าโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ถือว่าเป็นประเภทนโยบายที่ดี เพราะใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะสามารถสร้างเงินหมุนเวียนในระบบได้กว่า 2 แสนล้านบาท จึงอยากให้เน้นมาตรการรูปแบบนี้ออกมามากๆ

 

 

โดยหากรัฐบาลสามารถฟื้นโครงการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ใหม่ได้ มองว่าจะสร้างอานิสงส์เชิงบวกได้สูง เหมือนปลายปี 2563 ที่โครงการกระตุ้นให้คนออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ จึงอยากให้ทำมาตรการเหล่านี้ควบคู่กันไป จนสามารถมีวัคซีนเพียงพอ เพื่อให้คนในภาคบริการและเอสเอ็มอี มีรายได้หมุนเวียนในแบบที่รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปช่วยมากนัก ถือเป็นนโยบายที่ไม่ใช่รัฐบาลลงงบไป 100 บาท ได้กลับคืนมา 100 บาท เหมือนการแจกเงิน แต่จำเป็นที่ต้องออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง