รีเซต

ยกระดับค้านภาษีหุ้น 19ล้านคนมั่งคั่งหาย

ยกระดับค้านภาษีหุ้น 19ล้านคนมั่งคั่งหาย
ทันหุ้น
6 พฤษภาคม 2565 ( 05:43 )
106

#ภาษีหุ้น #ทันหุ้น - สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ทำหนังสือเปิดผนึกถึงคลัง ไม่เห็นด้วยการจัดเก็บภาษีหุ้น ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและมูลค่าหุ้น ชี้ 19 ล้านคนรับผลกระทบ เศรษฐกิจวูบ ได้ไม่คุ้มเสีย ขอให้ทบทวนใหม่  พร้อมหั่นเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1,750 จุด จาก 1,800 จุด เจอปัจจัยลบกระทบมาก ทั้งนโยบายของเฟด และสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ

 

นายไพบูลย์  นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐมีแนวคิดการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1%ของมูลค่าขายตั้งแต่บาทแรกนั้น เพื่อขอให้กระทรวงการคลังมีการทบทวนใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้แสดงความเห็นที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว โดยการดำเนินการครั้งนี้เป็นการทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน

 

ทั้งนี้สาเหตุที่สภาตลาดทุนไทยไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีการขายหุ้นได้ชี้แจงเป็น 5 ประเด็น ประกอบด้วยประเด็นแรก จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด ทำให้มูลค่าการซื้อขายมีโอกาสลดลง โดยเป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคน ที่ลงทุนทางตรงในตลาด และอีก 17 ล้านคน ที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ และจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ

 

ประการที่ 2  ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ๆ การดำเนินการอาจไม่คุ้มทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ประการที่ 3  ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษี จะนิยมให้มการยกเว้นแก่กลุ่ม Market Markers เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม/กองทุนบำนาญ/กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมทางการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ทั้งนี้ในกรณีของไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด ดังนั้นการให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่าหากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชน และการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว

 

ประการที่ 4  อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534เมื่ออัตราค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหรือ Commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา Commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1%และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด

 

ประการสุดท้าย ต้นทุนการระดมทุน (Cost of Capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนหรือบจ.ชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด Productivity และ GDP ของประเทศ

 

"เราเพิ่งส่งจดหมายเปิดผนึกไปในวันที่ 5 พฤษภาคม ขณะนี้ก็ต้องรอดูฟีดแบ็กจากกระทรวงการคลังว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากก่อนหน้านี้เราได้เข้าไปพูดคุยและหารือมา 2-3 รอบ ซึ่งก็แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยการเรื่องการจัดเก็บภาษี ก็หวังว่าคลังจะทบทวนใหม่"

 

**หั่นเป้าดัชนีปีนี้ลง

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัวได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1,750 จุด จากเดิมที่เคยมองไว้ที่ 1,800 จุด เพราะในช่วง 2เดือนที่ผ่านมามีปัจจัยลบเพิ่มสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ทั้งด้านการเติบโตเศรษฐกิจของไทยปีนี้คาดว่าจะโตไม่ถึง 3% รวมถึงปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง รวมถึงภาวะเงินเฟ้อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐที่ปรับขึ้นสูงทำให้ล่าสุดเฟดได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% และมีการดึงเงิน QE ออกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้จากสถิติข้อมูลย้อนหลังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 11 ครั้ง ซึ่งพบว่า 8 ครั้งเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ และเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆ พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ภายในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567  ในส่วนของเงินทุนต่างประเทศ เชื่อว่าสภาพคล่องในตลาดโลกยังสูง จึงมองว่าจะมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ที่ประสบปัญหาด้านเงินเฟ้ออยู่ในขณะนี้ไหลไปยังตลาดหุ้นเกิดใหม่ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็น่าจะได้รับผลดีด้วยเช่นกัน

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.42 ปรับตัวลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4   นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการมากที่สุด รองลงมาได้แก่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดการแพทย์ ขณะหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นหมวดที่นักลงทุนไม่สนใจมากที่สุด เพราะมองว่าราคาน้ำมันขึ้นทำให้ต้นทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้น รองลงมาคือหมวดเหล็ก และหมวดแฟชั่น

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง