รีเซต

“มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” “ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก" พบในไทย

“มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส”  “ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก" พบในไทย
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2566 ( 17:05 )
91
“มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส”  “ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก" พบในไทย

        “ศรีษะเป็นสีชมพู นัยน์ตากลมโต ปากเป็นจงอยสั้นคล้ายนก”   เป็นลักษณะเฉพาะตัวของ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis)  ที่มีการจำลองภาพออกมาจากนักบรรพชีวินวิทยาของไทย หลังพบชิ้นส่วนต้นแบบที่พบเป็นวัยเด็กมีขนาดประมาณ 0.6 เมตร หรือ 60 เซ็นติเมตร คาดว่าหากโตเต็มวัยจะมีขนาดถึง 2 เมตร มีลักษณะเฉพาะตัวจัดอยู่ในกลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) มีชีวิตอยู่ในช่วงตอนกลางถึงตอนปลายของยุคจูแรสซิก ถูกค้นพบจากแหล่งภูน้อย  ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เป็น "ซากไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย"  จากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี  ระบุว่า สภาพตัวอย่างที่เจอเป็นโครงกระดูกเรียงต่อกันแทบทั้งตัว มีทั้งชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกสันหลังส่วนคอไปจนถึงโคนหาง กระดูกเชิงกราน ขาหลังทั้งสองข้าง และยังมีเอ็นกระดูกบริเวณสันหลัง นับเป็นหนึ่งใน"ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"และเป็นไดโนเสาร์ที่ถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตัวแรกของหมวดหินภูกระดึง




        “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis)  หรือ “นักวิ่งขนาดเล็กแห่งภูน้อย” มีที่มาจากชื่อทางวิทยาศาสตร์ “มินิมัส” เป็นภาษาละติน แปลว่า ขนาดเล็ก เคอร์เซอร์ หมายถึง นักวิ่ง และ ภูน้อย ซึ่งหมายถึง แหล่งที่เจอ



         ประเทศไทยพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ทั้งหมด13 สายพันธุ์ อยู่ใน จ.กาฬสินธุ์    ที่แหล่งภูน้อยมากที่สุด  8  สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์กินพืช-กินเนื้อ  ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ประกาศให้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2563   คาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อยู่ใต้ชั้นหินอีกจำนวนมากหลากหลายชนิดกว่า 5,000 ชิ้น ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  




         ส่วนไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในไทย ได้แก่  สายพันธุ์ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” เป็นไดโนเสาร์กินพืช ค้นพบที่แหล่งภูเวียง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น 


ส่วน “สยามโมซอรัส สุธีธรนิ” และ “สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส” ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่  พบในหลายพื้นที่ทั้งขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานีและนครราชสีมา 


ขณะที่ไดโนเสาร์กินพืช อย่าง "ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ" และ "อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ" ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชที่มีลักษณะโบราณที่สุดเท่าที่เคยพบ ก็พบที่ จ.ชัยภูมิเช่นกัน   


“กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส” หรือไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ ที่กินทั้งพืชและสัตว์  พบที่ จ.ขอนแก่น




ส่วน “สยามโมดอน นิ่มงามมิ” ไดโนเสาร์กินพืช ออร์นิโธพอดสกุลใหม่ ชนิดใหม่ของโลก   และไดโนเสาร์กินพืชอีก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ  และ สิรินธรนา โคราชเอนซิส” ก็พบที่ จ.นครราชสีมาเช่นกัน 



ขณะ “ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ” หรือไดโนเสาร์นักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง ค้นพบซากที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น 




ส่วน “วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส”  เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง พบที่ จ.หนองบัวลำภู  และ “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ”  ไดโนเสาร์กินเนื้อ พบที่บ้านสะพานหิน จ.นครราชสีมา เป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ยาวไม่ต่ำกว่า 7 เมตร สยามแรปเตอร์เป็นผู้ล่าสูงสุดในภูมิภาคนี้ และยังเป็นตัวแรกที่ถูกค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้





***ขอบคุณข้อมูล กรมทรัพยากรธรณี***

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง