รีเซต

ปริศนาต้นกำเนิด "ทีเร็กซ์" ถูกนักวิทยาศาสตร์คลี่คลายพบบรรพบุรุษอาจมาจากเอเชีย

ปริศนาต้นกำเนิด "ทีเร็กซ์" ถูกนักวิทยาศาสตร์คลี่คลายพบบรรพบุรุษอาจมาจากเอเชีย
TNN ช่อง16
19 พฤษภาคม 2568 ( 00:56 )
16

ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติ นำโดย แคสเซียส มอร์ริสัน (Cassius Morrison) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) ไขปริศนาการกำเนิดของไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ซึ่งเคยเป็นประเด็นถกเถียงกันมายาวนาน โดยเสนอว่า บรรพบุรุษของ "ทีเร็กซ์" อาจอพยพมาจากเอเชียสู่ทวีปอเมริกาเหนือผ่านช่องแคบแบริ่ง แทนที่จะมีต้นกำเนิดในอเมริกาเหนืออย่างที่เคยเชื่อกัน

แม้จะพบฟอสซิลของทีเร็กซ์ (T. rex) จำนวนมากในอเมริกาเหนือ แต่มอร์ริสันชี้ว่าฟอสซิลของบรรพบุรุษโดยตรงของมันยังไม่ถูกค้นพบในเอเชีย แต่ข้อมูลจากแบบจำลองวิวัฒนาการและธรณีสัณฐานในอดีต ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ว่าพวกมันเดินทางข้ามทวีปมาได้ โดยเฉพาะเมื่อพบว่าทีเร็กซ์มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับไดโนเสาร์ในเอเชีย เช่น ทาร์โบซอรัส (Tarbosaurus) มากกว่าญาติที่อเมริกาเหนือ เช่น ดาสเปลโตซอรัส (Daspletosaurus)

ก่อนหน้านี้ในปี 2024 นักวิทยาศาสตร์พบไทรันโนซอรัสสายพันธุ์ "Tyrannosaurus mcraeensis" ในรัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งมีอายุเก่ากว่าทีเร็กซ์ (T. rex) ราว 6 ล้านปี จึงสันนิษฐานว่าทีเร็กซ์ (T. rex) อาจมีต้นกำเนิดในอเมริกาเหนือ แต่มอร์ริสันแย้งว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจไม่น่าเชื่อถือเพราะมีตัวอย่างฟอสซิลน้อย และเทคโนโลยียังมีข้อจำกัด

แบบจำลองของทีมแสดงให้เห็นว่า ทีเร็กซ์น่าจะถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ลารามิเดีย (Laramidia) ซึ่งเป็นดินแดนยุคครีเทเชียสทางตะวันตกของอเมริกาเหนือ แต่บรรพบุรุษของมันเดินทางมาจากเอเชียตั้งแต่ช่วงปลายยุคแคมปาเนียนถึงต้นยุคมาสทริชต์

นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์วิวัฒนาการของเมกะแร็ปเตอร์ (Megaraptor) ซึ่งอาจมีต้นกำเนิดในเอเชียเมื่อ 120 ล้านปีก่อน แล้วกระจายไปยังยุโรปและกอนด์วานา แม้ปัจจุบันยังไม่พบฟอสซิลของเมกะแร็ปเตอร์ในยุโรปหรือแอฟริกา แต่หลักฐานแสดงให้เห็นว่าพวกมันวิวัฒนาการแยกกันในหลายภูมิภาค เช่น ออสเตรเลียและปาตาโกเนีย

เมื่อโลกเริ่มเย็นลงราว 92 ล้านปีก่อน ทั้งเมกะแร็ปเตอร์และไทรันโนซอรัสมีแนวโน้มจะเติบโตใหญ่ขึ้น แม้ว่าจะไม่พบความสัมพันธ์โดยตรงกับสภาพอากาศก็ตาม แต่นักวิจัยเชื่อว่าไดโนเสาร์กลุ่มนี้อาจปรับตัวกับอากาศหนาวได้ดี และเข้ามาแทนที่ไดโนเสาร์นักล่าขนาดใหญ่กลุ่มคาร์คาโรดอนโตซอร์ ที่สูญพันธุ์ไปราว 90 ล้านปีก่อน

งานวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร Royal Society Open Science

ข่าวที่เกี่ยวข้อง