ภัยเงียบใกล้ตัว เช็กสัญญาณเตือน "มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ" พบบ่อยในชายวัย 50 ปีขึ้นไป
วันนี้ (20 พ.ค.65) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบบ่อยในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป
จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าแต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพศชายและเพศหญิงรายใหม่ประมาณ 1,900 และ 600 ราย ตามลำดับ
สำหรับสาเหตุการเกิดโรคนั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดแต่พบว่ามีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น การสูบบุหรี่ การสัมผัสสารเคมี การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะหรือติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะแบบเรื้อรัง การระคายเคืองและการอักเสบเนื่องจากก้อนนิ่ว เป็นต้น
ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการทั่วไปของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะปนเลือดโดยไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ปวดเบ่งขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เรื้อรัง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
สำหรับการรักษานั้นประกอบด้วยหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสุขภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไปผู้ป่วยในระยะที่โรคยังไม่ลุกลาม การรักษาหลักคือการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะไปตัดเนื้องอกออก
กรณีที่มะเร็งลุกลามแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดและการใช้รังสีรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค
แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดแต่เราสามารถป้องกันการเกิดโรคจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น รวมถึงการหมั่นสังเกตร่างกายและพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติอาจทำให้พบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคได้.
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP