ยานสำรวจ 'ดาวอังคาร' ของนาซา จับภาพ 'ลมบ้าหมู' หอบฝุ่น
(ภาพจากองค์การนาซา : ภาพจำลองยานสำรวจพื้นผิว "เพอร์เซเวียแรนส์" ของนาซาลงจอดบนดาวอังคารอย่างปลอดภัย)[/caption]
ลอสแอนเจลิส, 1 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (29 ก.ย.) องค์การนาซาของสหรัฐฯ รายงานว่ายานสำรวจพื้นผิว "เพอร์เซเวียแรนส์" (Perseverance) ได้บันทึกภาพพายุฝุ่น (dust devil) หรือลมบ้าหมูบนดาวอังคาร
รายงานระบุว่ายานสำรวจฯ สามารถจับภาพกระแสลมวนที่เต็มไปด้วยฝุ่นเคลื่อนตัวตามขอบตะวันตกของแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร (Jezero Crater) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 899 ของภารกิจสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร
พายุฝุ่นที่มีกำลังอ่อนกว่าและขนาดเล็กกว่าทอร์นาโดบนโลก จัดเป็นหนึ่งในกลไกที่เคลื่อนย้ายและกระจายฝุ่นทั่วดาวอังคาร โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ศึกษาพายุฝุ่นเพื่อเข้าใจชั้นบรรยากาศและปรับปรุงแบบจำลองสภาพอากาศของดาวอังคารให้ดียิ่งขึ้น
นาซาระบุว่าพายุฝุ่นที่เกิดบนโลกเช่นกันเกิดขึ้นเมื่อมวลอากาศร้อนปะทะกับมวลอากาศเย็นกว่า โดยพายุฝุ่นบนดาวอังคารสามารถมีขนาดใหญ่กว่าพายุฝุ่นบนโลกอย่างมาก
อนึ่ง ยานสำรวจพื้นผิวเพอร์เซเวียแรนส์ถูกปล่อยจากรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2020 และลงจอดบนดาวอังคารอย่างปลอดภัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 โดยยานสำรวจลำนี้จะเก็บตัวอย่างดาวอังคารกลับสู่โลกตามภารกิจในอนาคต
วัตถุประสงค์หลักของภารกิจสำรวจดาวอังคารโดยยานสำรวจพื้นผิวเพอร์เซเวียแรนส์คือชีวดาราศาสตร์ (astrobiology) ซึ่งครอบคลุมการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์โบราณ