สรุปฉบับเข้าใจง่าย "โรคฝีดาษลิง" อาการ การป้องกัน และข้อควรระวัง เช็กได้ที่นี่
โรคฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African Clade ซึ่งอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าสายพันธุ์ Central African Clade ซึ่งมีอัตราป่วยตาย 10% มีสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะและลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ป่วย ส่วนการติดจากคนสู่คน จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมากๆ สัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง หรือเสื้อผ้าของใช้ผู้ป่วยที่มีสารคัดหลั่ง ซึ่งบางประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด มีการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน อาการป่วยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรุนแรง ช่วง 5 วันแรก จะมีอาการนำ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ และหมดแรง ระยะนี้เริ่มแพร่เชื้อได้บ้างแล้ว และช่วงออกผื่น 2-3 วันหลังมีไข้ จะมีผื่นขึ้นเริ่มจากใบหน้า ลำตัว แขนขา รวมถึงบริเวณที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ช่องปาก และอวัยวะเพศ เริ่มจากตุ่มนูนแดงเล็กๆ เป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง เมื่อแตกจะมีแผลเป็นหลุม ส่วนใหญ่หายเองได้ บางรายอาจมีเป็นแผลเป็น และบางรายอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเดิม อาจมีปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่กระจกตาทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
อาการของโรคฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิง เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก อาการของโรคจะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 7-14 วัน โดยมีอาการคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต
การฉีดวัคซีน สำหรับโรค โรคฝีดาษลิง
แม้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
พ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85% แต่เนื่องจากโรคฝีดาษคน ถูกกำจัดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จึงเป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ แต่วัคซีนก็ยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และป้องกันโรคฝีดาษลิง
ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษคน จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ได้แก่ วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic และวัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากสหรัฐอเมริกา หรือ FDA แล้ว
วิธีการป้องกัน โรคฝีดาษลิง
วิธีการป้องกันให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด ถ้าพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ
ข้อควรระวัง โรคฝีดาษลิง
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ
2. หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์
3. ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงมีการแพร่ระบาด
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิน 14 วัน
(ข้อมูลอ้างอิงส่วนนี้ จาก แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรคพยาบาลศิครินทร์ สมุทรปราการ) https://www.sikarin.com/health/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9D%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87-%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B9%81%E0%B8%95
5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ออกคำชี้แจงทุกประเด็น "โรคฝีดาษลิง"
1. โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกา แล้วแพรไปสู่สัตว์ชนิดอื่น ที่มีรายงานครั้งแรกคือการติดเชื้อในลิงที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์ทดลอง จึงเรียกว่า ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง สัตว์ตระกูลลิง ไม่ใช่แหล่งรังโรค และยังไม่มีรายงานการพบเชื้อนี้ในสัตว์ประเภทฟันแทะในประเทศไทย
2. การติดเชื้อที่มีรายงานในอดีต มักเกิดในสัตว์เลี้ยง หรือคน ที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะ แต่การระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังไม่ทราบต้นตอที่แน่ชัด คาดว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับสัตว์ป่าในทางใดทางหนึ่ง ยังต้องรอการสอบสวนโรคอีกระยะเวลาพอสมควรก่อนที่จะชี้ชัดได้ว่าการระบาดมีมาจากสาเหตุใด
3. การแพร่เชื้อจากผู้ป่วย อาจจะเริ่มตั้งแต่มีอาการไข้ และจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงระยะเวลาที่มีตุ่มน้ำตามตัว ซึ่งต่างจากโควิด-19 ที่สามารถแพร่ได้แม้ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการ ดังนั้นจึงสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคได้ง่ายกว่า
4. การระบาดในประเทศต่าง ๆ ยังไม่กว้างขวางมากถึงจุดที่จะต้องห้ามการเดินทางเข้ามาของคนจากประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม หากพบนักเดินทางจากประเทศที่มีรายงานการพบโรค มีอาการไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ แนะนำให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่นและตุ่มน้ำใสตามแขนขาและใบหน้าหลังจากมีไข้แล้ว 2-3 วัน
5. ถ้ามีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้ตามร่างกายหากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจมีอาการรุนแรง องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้มีอัตราตายประมาณ 3.6%
6. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับนักเดินทางที่มีอาการตามข้อ 4 และมาจากประเทศที่มีรายงาน
7. การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการล้างมือหลังการสัมผัสผู้ป่วย เป็นวิธีการที่ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ดี
8. หลีกเลี่ยงการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือบริโภค เพราะอาจนำเชื้อก่อโรคชนิดใหม่ ๆ รวมทั้งฝีดาษวานรมาติดและแพร่ระบาดได้
9. วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่เนื่องจากประเทศไทยหยุดฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษมาแล้วเกือบ 50 ปี ดังนั้น ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี น่าจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้จากการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่มีโอกาสที่โรคนี้จะแพร่ระบาดมาถึงประเทศไทยได้น้อย จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้
เปิดนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน โรคฝีดาษวานร หรือ "ฝีดาษลิง"
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน "โรคฝีดาษวานร" หรือ "ฝีดาษลิง" (Patient Under Investigation) สำหรับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ดังนี้
1. มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต
2. มีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด
3. เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน
อนึ่ง "โรคฝีดาษลิง" เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกันกับเชื้อโรคไข้ทรพิษ คือกลุ่ม orthopoxvirus มีอาการคล้ายกัน มีสัตว์ฟันแทะ เป็นแหล่งรังโรค ติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง หรือผื่นของสัตว์ที่ติดเชื้อ และติดต่อจากคนไปสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากการไอจาม ผื่น หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการโดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางครั้งอาการคล้ายกับโรคสุกใสและหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ
ทั้งนี้ US-CDC ได้แนะนำให้ควบคุมโรคโดยใช้ยารักษาโรคไข้ทรพิษ ได้แก่ Tecovirimat (ST-246), Cidofovir และ brincidofovir รวมถึงการให้แอนติบดีเสริมภูมิต้านทานสำเร็จรูปชื่อ Vaccinia Immune Globulin (VIG) สำหรับรักษาผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรุนแรง ทั้งนี้ยาดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการติดตามประเมินประสิทธิภาพ
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคผีดาษวานร (Monkeypox) ว่า เป็นโรคที่แพร่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกามาหลายปี แต่ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มพบผู้ป่วยในประเทศแถบยุโรป มีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกา และมีการแพร่ระบาดภายในบางประเทศ โดยผู้ติดเชื้อในยุโรปขณะนี้มีรายงาน 257 ราย ใน 18 ประเทศ ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ คือ เดนมาร์ก โมรอกโก และอาร์เจนตินา โดยข้อมูลทางระบาดวิทยาเท่าที่มีรายงาน พบเป็นเพศชาย 122 คน เพศหญิง 1 คน เป็นวัยทำงานอายุ 20-59 ปี จำนวน 61 คน รายงานอาการป่วย 57 คน พบเป็นผื่น/ตุ่มนูน 98% ไข้ 39% ต่อมน้ำเหลืองโต 26% และไอ 2% โดยลักษณะของผื่น เป็นตุ่มแผลก้นลึก 75% ตุ่มน้ำใส 9% ผื่นนูน/ตุ่มหนอง 2% บริเวณที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ 39% ปาก 30% และรอบทวารหนัก 2% ตรวจพบสายพันธุ์ West African 9 ราย
สำหรับ ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษวานร กรมควบคุมโรค ซึ่งคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้จัดโรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศ การแพร่กระจายของโรคเป็นลักษณะของการใกล้ชิดกันมากๆ เฉพาะกลุ่ม และยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปหลายทวีป อัตราป่วยตายยังเป็นสายพันธุ์ที่ป่วยรุนแรงน้อย โดยจะเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าประเทศที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อยหนึ่งอย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่นตุ่มนูน ร่วมกับประวัติเดินทางหรืออาศัยในประเทศที่มีรายงานการระบาด มีประวัติร่วมกิจกรรมที่มีรายงานพบผู้ป่วยเข้าข่ายหรือยืนยัน และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนำเข้าจากแอฟริกา นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งเตรียมการในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรค รวมถึงเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ไว้แล้ว
ที่มาข้อมูล / ภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ / กทม. / กรมควบคุมโรค