เด็กทำร้ายเด็ก! รวมกฎหมายคุ้มครองเด็ก เมื่อเด็กถูกทำร้าย
ปัจจุบันเราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับเด็กถูกทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยครั้ง ทั้งเพื่อนแกล้งจนไม่ยอมไปโรงเรียน หรือเพื่อนที่โรงเรียนแกล้งจนบาดเจ็บทางร่างกายก็หลายครั้ง
วันนี้ True ID จึงรวบรวมข้อกฎหมายและสิทธิการคุ้มครองเด็ก เพื่อเป็นคู่มือในการดูแลลูกเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย
สิทธิเด็ก
โดยทั่ว ไป แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1.กลุ่มสิทธิทั่วไปที่เด็กควรได้รับ คือ เด็กทุกคนต้องได้รับการส่งเสริมการพัฒนาให้เป็นไปตามช่วงวัยพัฒนาการ และจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
2.กลุ่มสิทธิเด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น เด็กที่ถูกทารุณได้รับความรุนแรง หรือเด็กที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายได้ให้สิทธิโอกาสในการพิจารณา และช่วยฟื้นฟูพฤติกรรมเด็ก เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเปลี่ยนทัศนคติความคิดจนกลับมาอยู่ในสังคมได้โดยไม่ กลับเข้าไปกระทำความผิดอีก
สิทธิพื้นฐานที่สำคัญ มี 4 ประการ ดังนี้
สิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) ที่บังคับใช้ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 มีทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่
1.สิทธิในการดำรงชีวิต
สิทธิพื้นฐานทั่วไปของเด็ก ที่ครอบคลุมสิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน สิทธิที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีพอ รวมถึงสิทธิในการมีชื่อและสัญชาติด้วย
2.สิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ
สิทธิที่เด็กได้รับปกป้องคุ้มครองจากการทารุณกรรมทุกรูปแบบ เช่น การทารุณกรรมทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ซึ่งรวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการปกป้องคุ้มครองเด็กที่มีชีวิตอยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น เด็กพิการ เด็กผู้ลี้ภัย เด็กกำพร้า เป็นต้น
3.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา
ทุกคนจะได้รับสิทธิให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ ร่างกาย จิตใจ สังคม รวมถึงความพึงพอใจและความสุข ครอบคลุมถึงสิทธิที่จะได้เล่นและพักผ่อน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม สิทธิที่จะได้รับการศึกษาทุกประเภททั้งในและนอกระบบโรงเรียน
4.สิทธิในการมีส่วนร่วม
สิทธินี้ครอบคลุมสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีในทุกๆ เรื่อง ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อตัวเอง สิทธิในการแสดงออกและได้รับข้อมูลข่าวสารรวมถึง ทัศนะคติของเด็กจะต้องมีการให้ความสำคัญอย่างเหมาะสมด้วย
ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรทำสิ่งนี้
นอกจากนี้ เด็กยังได้รับความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใด กระทำการดังต่อไปนี้
1.ห้ามการกระทำการทารุณกรรมต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก
2.ห้ามจงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต หรือการรักษาพยาบาลของเด็กที่อยู่ในความดูแลของตนจนน่าเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
3.ห้ามบังคับ ขู่เข็น ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด
4.ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ด้วยประการใดเพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาติจากทางราชการแล้ว
5.ห้ามบังคับ ขู่เข็น ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อนหรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือการะทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
6.ห้ามใช้ จ้าง หรือวานให้เด็กทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบ หรือขัดขวางต่อการพัฒนาการของเด็ก
7.ห้ามบังคับ ขู่เข็น ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า อันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
8.ห้ามใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณีหรือสถานที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
9.ห้ามบังคับ ขู่เข็น ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
10.ห้ามจำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบติทางการแพทย์
หากลูกโดนเพื่อนแกล้ง เอาผิดตามกฎหมายอย่างไร
ตามกฎหมาย การรังแกเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้รังแกมีเจตนาทำให้คนอื่น ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย หรือทางจิตใจ โดยทั่วไปผู้รังแกมักจะมีกำลังหรือมีอำนาจเหนือกว่าทำให้ผู้ถูกรังแกไม่สามารถปกป้องตัวเองจากการกระทำได้
ประเภทของการรังแก
1. รังแกทางร่างกาย เช่น การทำร้ายร่างกายต่างๆ การล่วงละเมิดทางเพศ
2. รังแกทางวาจา เช่น การพูดจาหยาบคาย สบประมาท
3. รังแกทางสังคม เป็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงการรุกรานเกี่ยวกับ สัมพันธภาพระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล รวมทั้งการทำให้เกิดความเข้าใจผิด บาดหมาง การกระจายข่าวลือสร้างความเสียหาย
4. รังแกบนโลกไซเบอร์ ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนกระทำ แต่มีการเผยแพร่ข้อมูลในทางที่ไม่ดี
กฎหมายเกี่ยวข้อง
1. มาตรา 391
ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่เป็นเหตุให้ เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิด 1 เดือน หรือปรับเกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.มาตรา 295
ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน2 ปี หรือปรับเกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.มาตรา 297
ผู้ใดกระทำผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส เช่น ความเสียหายทางอวัยวะ ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี
พ่อแม่ต้องทำอย่างไรเมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้ง
1.รับฟังอย่างเข้าใจ โดยไม่ตัดสิน ชื่นชมในความกล้าหาญของเด็กที่พูดถึงเรื่องนี้ พร้อมกับให้กำลังใจเด็ก
2.หลีกเลี่ยงคำพูดที่บอกว่าเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย
3.ให้ทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกรังแกได้น้อยกว่าการอยู่คนเดียว
4. พัฒนาและสร้างเกราะป้องกันให้ลูกไม่ให้ถูกรังแก ด้วยการเสริมทักษะการพูดปฏิเสธ ป้องกันตัวเองเป็น จัดการอารมณ์ลบ และทักษะการสร้างมิตรภาพกับคนอื่นในรูปแบบที่เหมาะสม
5. สื่อสารระหว่างพ่อแม่กับครู หรือกลุ่มผู้ปกครองในการแก้ปัญหาร่วมกัน
6. หากสังเกตว่าลูกเริ่มมีปัญหาอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวลหรือ กลัวการไปโรงเรียน ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
7. ติดตามการใช้สื่อออนไลน์ของลูก กำหนดกติกาการใช้สื่อกับลูกที่เหมาะสมชัดเจนตั้งแต่ต้น
ไม่อยากให้ลูกเป็นคนที่ชอบไปแกล้งเพื่อน
1. ไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการจัดการลูก เพราะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้การใช้ ความรุนแรงกับผู้อื่น
2. หาสาเหตุ ที่อยู่ลึกกว่าพฤติกรรมความรุนแรงมาจากไหน
3. ทบทวนกติกาการอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวและคนในสังคม พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจว่าพฤตกรรมที่ถูกต้องควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อทำผิดต้องรู้จักขอโทษและรู้จักให้อภัย
4. หากมีอาการของโรคสมาธิสั้น หรือกลุ่มเด็กพิเศษที่ควบคุมตนเองไม่ได้ควรพบแพทย์ และปรับพฤติกรรม
5. ระมัดระวังการใช้สื่อที่มีเนื้อหาความรุนแรง หรือพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม
6.ฝึกการคิดแบบ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ในทุกเหตุการณ์
ข้อมูลจาก สสส., www.parentsone.com, มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก, บทความวิชาการการรังแกในเด็กและวัยรุ่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กกับโทษคดีครูทำร้ายร่างกายเด็กที่ต้องรู้