กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กกับโทษคดีครูทำร้ายร่างกายเด็กที่ต้องรู้
TrueID
27 กันยายน 2563 ( 10:47 )
9.8K
จากกรณีครูพี่เลี้ยงที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายเด็กในโรงเรียน ในทางกฎหมาย มีความผิดในทางอาญาฐานเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่น และยังเป็นความผิดฐานทารุณกรรมเด็ก มีโทษทั้งจำคุกและปรับ ในทางแพ่งผู้ปกครองอาจสามารถเรียกร้องความเสียหายจากการละเมิด รวมถึงถือเป็นการผิดสัญญาในการดูแลคุ้มครองเด็ก จากทั้งครูที่ก่อเหตุและทางโรงเรียนได้อีกด้วย ส่วนครูพี่เลี้ยงคนอื่นที่เห็นเหตุการณ์แล้ว แต่ไม่ยอมเข้าช่วยเหลือเด็ก หรือห้ามปรามทักท้วงผู้กระทำผิด ก็อาจเข้าข่ายเป็นการงดเว้นไม่กระทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองเด็ก และถือว่าเป็นการร่วมกระทำผิดเช่นกัน
เพจทนายบันเทิง ขอวิเคราะห์จากภาพเหตุการณ์ในกล้องวงจรปิดที่สื่อหลายสำนักนำเสนอ และคำขอโทษจากตัวผู้กระทำผิด ซึ่งเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอจะนำมาพูดคุยกันได้ในบางแง่มุม เท่าที่ไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็ก และไม่ก้าวล่วงการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ปกครอง คุณครู หรือโรงเรียน ซึ่งทุกฝ่ายต่างมีหน้าที่อบรมดูแล คุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กในความปกครองดูแลของตน
ความรับผิดของครูพี่เลี้ยง
ในทางคดีอาญานั้น การเจตนาทำร้ายร่างกายผู้อื่นต้องพิจารณาพฤติการณ์การทำร้ายร่างกาย ผลของการกระทำที่เกิดขึ้นหรือความร้ายแรงของบาดแผลและอาการบาดเจ็บของผู้ถูกกระทำด้วยว่าได้รับอันตรายขั้นใด ใช้เวลารักษาอาการนานเท่าใด หากมีเจตนาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแลัวเกิดเป็นเพียง แผลถลอก รอยบวม ช้ำบวมแดง ขีดข่วน (ไม่มีโลหิตออก) แพทย์ลงความเห็นว่ารักษาบาดแผลเพียงไม่กี่วันจึงหาย
แนวคำพิพากษาฎีกาวางหลักบรรทัดฐานไว้ว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่ง บัญญัติไว้ว่าผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระว่างโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่หากการใช้กำลังทำร้ายนั้นทำให้ผู้ถูกกระทำ มีบาดแผล โลหิตไหล ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ถูกกระทำได้รับอันตายแก่กายหรือจิตใจ อันเป็นความผิดตามมาตรา 295 บัญญัติว่า
ผู้ใดทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระว่างโทษจำคุก ไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งการกระทำของครูทั้งการทำร้ายร่างกายเด็ก การบังคับ ข่มขู่ ใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น ยังมีลักษณะเป็นการ “กระทำการหรือละเว้นกระทำการใดๆ จนเป็นเหตุให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพ หรือเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก การใช้เด็กให้กระทำหรือประพฤติในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ” อันเป็นความผิดฐานทารุณกรรมเด็ก ซึ่งเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (1) ซึ่งมาตรา 78 บัญญัติให้ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งในกรณีนี้ การกระทำความผิดต่อเด็กหนึ่งคน หนึ่งครั้ง ย่อมเป็นความผิดสำเร็จหนึ่งกรรม หรือหนึ่งกระทง ซึ่งหากมีพยานหลักฐานว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำต่อเด็กหลายราย หลายครั้ง ย่อมเป็นการกระทำความผิด หลายกรรมต่างกัน
กรณีมีครูพี่เลี้ยงคนอื่นอีกอยู่ภายในห้องเรียนที่เกิดเหตุและเห็นเหตุการณ์
ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ครูพี่เลี้ยงรายอื่นนั้น มีหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ในชั้นอนุบาลดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญาว่าจ้างในงานของตนเอง การที่ครูพี่เลี้ยงคนอื่นที่เห็นเหตุการณ์แล้ว ไม่ยอมเข้าช่วยเหลือเด็ก หรือห้ามปรามทักท้วงผู้กระทำผิด น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นการกระทำผิด โดยการงดเว้นไม่กระทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองเด็ก ๆ
ในชั้นของตน อันถือเป็นการกระทำผิดร่วมกันกับผู้กระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวของต้องพิจารณาตามกฎหมายต่อไป
ผู้กระทำความผิด อ้างว่าเป็นการลงโทษ ซึ่งเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุนั้น เมื่อพิจารณาจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ให้คำนิยามว่า
“ การลงโทษ ” หมายความว่าการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา ที่กระทำความผิดโดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน ซึ่งข้อ 5 ได้ระบุโทษที่จะลงแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี 4 สถาน คือ
(1) ว่ากล่าวตักเตือน
(2) ทำทัณฑ์บน
(3) ตัดคะแนนความประพฤติ
(4) ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
(5) ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้งหรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึกถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงประกอบการลงโทษประกอบการลงโทษด้วย
จะเห็นว่าปัจจุบันนี้ วิธีการลงโทษศิษย์นั้น กระทำได้เพียงว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ หรือ ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่านั้น ครูอาจารย์ ไม่สามารถใช้วิธีการลงโทษศิษย์ด้วยวิธีการเฆี่ยนตี หรือตบตีได้อีกต่อไปแล้ว แม้คำว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี จะยังใช้ได้ แต่การทำโทษด้วยวิธีรุนแรงเกินสมควรนั้นนอกจากจะสร้างความเจ็บช้ำทางร่างกายภายนอก และยังสร้างบาดแผลภายในจิตใจให้แก่เด็กอีกด้วย ครูอาจารย์ควรเลือกใช้วิธีการลงโทษให้ถูกต้อง เหมาะสมกับพฤติการณ์ของศิษย์
ข้อมูล : เพจทนายบันเทิง