รีเซต

5 อันดับหุ่นยนต์แห่งปี 2024 จัดอันดับโดยนิตยสาร Time

5 อันดับหุ่นยนต์แห่งปี 2024 จัดอันดับโดยนิตยสาร Time
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2567 ( 09:26 )
30

ก้าวเข้าสู่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2024 สื่อต่าง ๆ เริ่มจัดอันดับสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ รวมถึงความเป็น "สุดยอด" ในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับนิตยสารไทม์ (Time)  นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของสหรัฐอเมริกา ที่ได้จัดอันดับ 5 หุ่นยนต์ที่น่าสนใจในปี 2024 โดยเป็นการจัดอันดับจากการเสนอชื่อนวัตกรรมของบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวของ Time ทั่วโลก จากนั้นประเมินผลงานตามปัจจัยสำคัญหลายประการ ซึ่งรวมถึงความคิดริเริ่ม ประสิทธิภาพ ความทะเยอทะยาน และการส่งผลกระทบต่อสังคม


และนี่คือ 5 อันดับหุ่นยนต์ โดย Time


1. หุ่นยนต์ผ่าตัด (A Steady Surgeon : Medical Microinstruments Symani Surgical System)


หุ่นยนต์ผ่าตัดที่ควบคุมโดยแพทย์จากระยะไกลได้พัฒนามาแล้วเกือบร้อยปี แต่ในเดือนเมษายน 2024 ระบบการผ่าตัด ไซมานิ (The Symani Surgical System) ที่พัฒนาโดยบริษัทด้านหุ่นยนต์ผ่าตัด เมดิคอล อินสตรูเมนท์ (Medical Microinstruments หรือ MMI) ใช้แขนหุ่นยนต์ที่ข้อมือพร้อมความยืดหยุ่น 7 ระดับ ได้กลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) สำหรับการผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microsurgery) โดยในยุโรป Symani ได้ทำการผ่าตัดเกือบ 1,000 ครั้งด้วยขั้นตอนการผ่าตัด 17 ขั้นตอน และในก้าวต่อไป MMI กำลังพัฒนาเวอร์ชันที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อทำการผ่าตัดส่วนอื่น ๆ เช่น การมัดหลอดเลือดแดงหลังการผ่าตัด เป็นต้น


2. เครื่องจักรสำหรับนวด (Machine Massage : Aescape)

แขนหุ่นยนต์อัตโนมัติเต็มรูปแบบของเอสเคป (Aescape) นำเสนอการนวดแบบใหม่ ด้วยการสแกนร่างกายของมนุษย์ รวมถึงใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) เพื่อวิเคราะห์แผนการนวดเฉพาะบุคคล ทำให้สามารถควบคุมการนวดที่เหมาะสมของแต่ละคนได้ ปัจจุบันให้บริการแล้วในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยราคาอยู่ที่ 30 นาทีต่อ 60 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,050 บาท


3. หุ่นยนต์แรงงาน (Blue Collar Robot : Agility Robotics Digit)

หุ่นยนต์รูปร่างคล้ายมนุษย์ ชื่อ ดิจิต (Digit) จากบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์อะจิลิตี้ โรโบติกส์ (Agility Robotics) ขับเคลื่อนด้วย AI สามารถเข้ามาทำงานในสายการผลิตและโลจิสติกส์ ปัจจุบันมีหลายองค์กรนำมาใช้งานแล้ว เช่น แอมะซอน (Amazon) ซึ่งนำมาทดลองใช้งานในปี 2023 แต่ยังมีการกั้นสัดส่วนระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ เพื่อไม่ให้มนุษย์ได้รับอันตราย แต่เพกกี้ จอห์นสัน (Peggy Johnson) ซีอีโอของ Agility Robotics คาดหวังว่ามนุษย์และหุ่นยนต์จะสามารถทำงานร่วมกันได้ภายในปี 2025


4. กล้องกู้ภัยแบบขว้างได้ (Rubble Rescue Camera : Bounce Imaging Pit Viper 360)

กล้อง พิท ไวเปอร์ 360 (Pit Viper 360) พัฒนาโดยบริษัทบอนซ์ อิมเมจิง (Bounce Imaging) มีลักษณะกลม กะทัดรัด ทนทาน และน้ำหนักเบา ด้านในฝังกล้องถ่ายภาพความร้อน 6 ตัว ระยะการมองเห็นกว้าง อัตราการรีเฟรชสูง สามารถส่งวิดีโอแบบเรียลไทม์มายังหน้าจอที่เชื่อต่อ จุดเด่นของกล้องนี้คือสามารถขว้างได้ ทำให้มีประโยชน์ในหลายสถานการณ์ เช่น เจ้าหน้าที่ทางการทหาร หรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่สามารถขว้างเข้าไปในพื้นที่ภัยพิบัติ ซากปรักหักพัง เพื่อเก็บภาพความร้อนภายใน ทำให้มองเห็นสภาพแวดล้อมและวางแผนการดำเนินการ 


5. หุ่นยนต์ทำงานหนัก (A Hard-Working Humanoid Bot : Figure 02)

บริษัทสตาร์ตอัปด้านหุ่นยนต์ AI อย่างฟิกเกอร์ (Figure) เปิดตัวหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่อย่าง ฟิกเกอร์ 2 (Figure 2) หุ่นยนต์ตัวนี้มาพร้อมกล้องและเซ็นเซอร์ขั้นสูงที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ได้ภายในร่างกายที่มีน้ำหนักเกือบ 155 ปอนด์ หรือ 77 กิโลกรัม โดยในปีนี้ได้มีการนำไปทดลองใช้แล้ว เช่น โรงงานของ BMW ในเซาท์แคโรไลนา พบว่า Figure 02 สามารถทำภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบรถยนต์สำเร็จลุล่วงได้ เช่น การใส่ชิ้นส่วนแผ่นโลหะเข้าไปในอุปกรณ์ประกอบ เป็นต้น


ที่มาข้อมูล Time

ที่มารูปภาพ Medical Microinstruments, Aescape, Agility Robotics, Bounce Imaging, Figure

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง